ดร. อานนท์ เอื้อตระกูล บอก เห็ดมีสรรพคุณเป็นยา

คำว่า “เห็ด” หรือ “ดอกเห็ด” ประกอบด้วย ก้าน (stipe) และหมวก (pileus) ใต้หมวกอาจเป็นครีบ หรือเป็นท่อ (tube) อันเป็นที่เกิด “สปอร์ (spore)” ซึ่งสปอร์นี้มีขนาดเล็กมากเรียกว่าจุล ขนาดต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ช่วยให้มองเห็น ปัจจุบัน ได้มีการจำแนก “เห็ด” แล้วกว่า 30,000 ชนิด มีทั้งที่เป็น “เห็ดกินได้”,
“เห็ดกินไม่ได้”, “เห็ดพิษ” บางชนิดกินแล้วเกิดประสาทหลอน บางชนิดกินแล้วถึงแก่ชีวิต
แต่ในครั้งนี้เราจะพูดถึงประโยชน์ของเห็ดว่าสามารถนำมาทำอะไรบ้าง

หลายท่านคงรู้จักและเข้าใจกันดีว่าเห็ดกินแล้วมีประโยชน์ หรือส่วนใหญ่ก็เข้าใจกันว่าเห็ดเป็นแค่ผักชนิดหนึ่ง ที่นำมาประกอบอาหารได้เพียงเท่านั้น แต่จะมีสักกี่ท่านที่รู้และเข้าใจว่า จริงๆ แล้วเห็ดนั้นเป็นยา สามารถนำมาสร้างประโยชน์ รักษาโรคภัยได้มากมาย คำว่า “เห็ดเป็นยา” คืออะไร วันนี้นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านมีคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องเห็ดมาให้ความรู้ ซึ่งอาจารย์ท่านนี้ท่านได้ทำงานและศึกษาเรื่องเห็ดมาแล้วทั่วโลก

ดร. อานนท์ เอื้อตระกูล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส (เห็ด) องค์การสหประชาชาติ ปี 2524-2548 อยู่ที่ ตำบลคลองสองอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี บอกว่า เห็ดเป็นยา

ดร. อานนท์ เล่าให้ฟังว่า หลังจากตนเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเห็ดกว่า 20 ปี ในต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2524-2548 อยู่ในเอเชีย 10 ปี อยู่ในแอฟริกา 14 ปี ขณะนี้เกษียณกลับมาก็ได้นำความรู้ใหม่ให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รู้เรื่องเห็ดอย่างถูกต้อง

คนทั่วไปจะเข้าใจว่า เห็ด นำมาทำแค่เป็นอาหารได้ ซึ่งทุกคนเข้าใจผิดมานานว่ามันเป็นแค่อาหาร ให้ความอร่อยเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วเห็ดทุกอย่างมีสรรพคุณเป็นยาทำได้มากกว่านั้น แต่เราไม่เคยพูดว่าเห็ดเป็นยา

“ผมสอนเรื่องเห็ดมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2516 เราก็สอนให้คนไทยรู้ว่าเห็ดเป็นอาหาร หมายความว่า การนำเห็ดไปประกอบอาหาร จะต้มหรือยำเท่านั้น ซึ่งผมก็สอนแบบนี้มาทั่วโลก พอไปถึงต่างประเทศถึงรู้ว่าต่างประเทศเขามีการนำเห็ดมาทำเป็นยานานแล้ว และบังเอิญกับที่ผมเป็นโรคภูมิแพ้อากาศ และเป็นโรคเบาหวานอย่างรุนแรง ผมก็กินยาแอนตี้ฮิสตามีนมาตลอดชีวิต แต่ร่างกายไม่เคยดีขึ้น เมื่อกินไปนานๆ ร่างกายเริ่มมีผลข้างเคียง ตอนหลังไปเจอหมอที่เซาท์แอฟริกาบอกว่า ถ้ายังกินยาชนิดนี้ไปมากๆ จะมีผลต่อตาและร่างกายในส่วนอื่นๆ หลังจากนั้นผมจึงตัดสินใจเลิกกินยาชนิดนี้โดยเด็ดขาด หันมาพึ่งสมุนไพรแทน แต่เมื่อไปหาสมุนไพรตามต่างประเทศก็ไปเจอแต่เห็ดทั้งนั้น ประจวบเหมาะที่เราเป็นคนสอนเรื่องเห็ด จึงลองกินดู ปรากฏว่าตอนนี้ผมไม่ต้องกินแอนตี้ฮิสตามีนอีกแล้ว” ดร. อานนท์ กล่าว

เห็ดเป็นยา

สารเบต้ากลูแคนในเห็ด

ดร. อานนท์ บอกว่า เห็ดเป็นยานั้น คือจริงๆ แล้วเห็ดเป็นยาอยู่แล้ว เพราะเห็ดไม่สามารถผลิตอาหารได้เอง ต้องอาศัยการย่อยอาหารจากต้นไม้ หรือจากขี้เลื่อย เพราะฉะนั้นตัวเห็ดทั้งหลายจะเก็บสารอาหารที่สำคัญในตัวของมัน หรือเรียกว่า เบต้ากลูแคน แล้วเบต้ากลูแคนสำคัญอย่างไร ยกตัวอย่าง เช่น ในร่างกายของมนุษย์ตอนไม่สบายอุณหภูมิในร่างกายจะต่ำลง พบว่าวิธีรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบันและไม่มีผลข้างเคียงคือ การกินเบต้ากลูแคน ถามว่าเบต้ากลูแคนมาจากไหน เบต้ากลูแคนมาจากยีสต์แดง ซึ่งสมัยก่อนทางยุโรปกับอเมริกาต้องเลี้ยงยีสต์แดงเยอะมาก เพื่อนำมาทำเบต้ากลูแคนเสริมภูมิให้กับร่างกาย แต่ยีสต์แดงมีน้ำหนักโมเลกุลที่เล็ก ดังนั้น น้ำหนักของเบต้ากลูแคนที่ได้จะเบาตาม นั้นก็หมายความว่า เมื่อน้ำหนักเบาก็สร้างภูมิได้น้อยตามไปด้วย แต่ในเห็ดเราพบว่ามีสารเบต้ากลูแคนมากกว่ายีสต์แดงและหนักกว่า เพราะฉะนั้นในการสร้างเสริมภูมิจึงดีกว่า และถ้าถามว่าแล้วเห็ดชนิดไหน ที่มีเบต้ากลูแคนบ้าง ตอบได้เลยว่าเห็ดทุกชนิดมีเบต้ากลูแคน เพียงแค่ในเห็ดแต่ละชนิดจะมีน้ำหนักโมเลกุลที่ต่างกันมีมากน้อย และการทำงานในเรื่องของการเสริมภูมิไม่เหมือนกัน

 

ขั้นตอนการผลิตเห็ดเป็นยา

การผลิตเห็ดเป็นยา จริงๆ แล้วเข้าใจไม่ยาก และเห็ดที่นำมาสกัดเป็นยาก็เพาะได้โดยวิธีทั่วไป เห็ดมีหลายชนิดบางชนิดเราสามารถเพาะในถุงพลาสติกได้ อย่างเช่น เห็ดนางรม นางฟ้า หูหนู มิลค์กี้ เป้าฮื้อ หลินจือ เป็นต้น แต่เห็ดบางชนิดอาจต้องเพาะเหมือนเห็ดฟาง คือเพาะบนดิน เช่น เห็ดเยื่อไผ่ สมัยนี้จะเพาะเห็ดทีนึงก็เป็นเรื่องง่ายมากขึ้น สังเกตเมื่อเส้นใยเดินเต็มให้เปิดฝาถุงออก เมื่อเปิดฝาออกเห็ดก็จะออกมา กรณีอันนี้คือเราต้องการนำดอกเห็ดไปประกอบอาหารเพื่อกินแทนผัก แต่ถ้าเป็นเรื่องของการเอาเห็ดไปทำยาแล้วมีอะไรมากกว่านั้น

น้ำดื่มเพื่อสุขภาพ สกัดจากเห็ดผสมกระเจี๊ยบ รสชาติดื่มง่าย

คำว่า สกัด หลายท่านอาจจะเข้าใจว่าต้องใช้สารเคมี แอลกอฮอล์เพื่อสกัด เพื่อให้ได้สารบริสุทธิ์ ยามเป็นโรคอะไรเราจะฉีดสารบริสุทธิ์นั้นเข้าไป นั้นก็เหมือนกับว่าเรากำลังรักษาโรคแบบเทคโนโลยีตะวันตก ถามว่าได้ผลไหม ได้ผล ได้ผลแบบทันทีด้วย แต่พอได้ผลทันที ก็มีปัญหาตามมาคือ ราคาที่สูง และปัญหาเรื่องผลข้างเคียงที่ตามมา…เรื่องเห็ดเราเคยหลงทางมานาน หลงอย่างไร เราเคยเอาเห็ดมาสกัดเป็นสารเดี่ยว จากเห็ด 1 ตัน อาจจะได้สารบริสุทธิ์แค่ 1 กิโลกรัม ซึ่งต้องลงทุนสูงมาก และจริงๆ แล้วเห็ดสามารถเอามาทำเป็นยาได้โดยง่ายถ้าเรารู้วิธี

“เห็ด” ความเป็นยาอยู่ที่เบต้ากลูแคนหรือโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่ แต่ร่างกายคนเราไม่สามารถเอาไปใช้ได้โดยตรง ที่นี่เราจึงมีกรรมวิธีง่ายๆ ถ้าต้องการทำเห็ดเป็นยาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

  1. ควรจะเอาเห็ดมาหมักก่อน โดยนำดอกเห็ดชนิดต่างๆ มาหั่นหรือทุบ ตัวอย่าง เช่น เห็ดหลินจือ ถ้าจะใช้เห็ดหลินจือบางคนเข้าใจผิด จะใช้ตอนที่แก่ตอนที่สร้างสปอร์แล้วแบบนี้ไม่มีความหมาย ใช้อย่างถูกต้องคือ ใช้ตอนที่กำลังสร้างสปอร์ บางคนเข้าใจผิดไปเอาสปอร์มากิน อันนี้ยิ่งแย่ใหญ่เพราะร่างกายคนเราไม่สามารถย่อยสปอร์ได้
  2. หั่นเสร็จเอามาใส่ในน้ำ สมมุติ เห็ด 1 กิโลกรัม ใส่น้ำไป 20 ลิตร แล้วใส่น้ำตาล ถ้าเป็นน้ำตาลที่ไม่ฟอกสีได้ยิ่งดีคือน้ำตาลทรายแดง ใส่ 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น 20 เปอร์เซ็นต์ กับน้ำ 20 ลิตร เท่ากับ ใส่เห็ด 4 กิโลกรัม เท่านั้น
  3. ใส่ในขวด หรือภาชนะที่ปลอดสารพิษ ถ้าใส่ถังพลาสติกต้องเป็นแบบฟู้ดเกรด ใส่เกือบเต็มปล่อยให้เกิดการหมัก ใช้ผ้าคลุม แต่ถ้าใช้การหมักแบบนี้ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี เพราะจุลินทรีย์ธรรมชาติ มีทั้งเชื้อโรคและประโยชน์รวมกันอยู่ เราต้องหมักจนกระทั่งให้เป็นกรด กลายเป็นน้ำส้มสายชูจริงๆ ถึงจะมั่นใจได้ว่าไม่มีเชื้อโรค แต่ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้วมาถึงสูตรของ ดร. อานนท์ บ้าง ของด็อกเตอร์เราจะรู้ว่าตัวที่ทำการหมักคือ จุลินทรีย์ที่อยู่ในกระเพาะหรือในลำไส้ที่เราเรียกว่าโปรไบโอติกส์ เราก็ไปเอาเชื้อโปรไบโอติกส์มา แล้วโปรไบโอติกส์เอามาจากไหน ไม่ใช่เอามาจากลำไส้นะ เราเอามาจากธรรมชาติ เช่น รากของต้นโกงกางที่มีเป็นหมื่นๆ ชนิด เราก็แยกเอาเชื้อที่ใช้ได้ ที่มีประโยชน์จริงๆ สัก 10 ชนิด แทนที่จะใช้เชื้อจากอากาศเราก็ใช้เชื้อบริสุทธิ์นี้ใส่เข้าไปในน้ำหมัก โดยมีการเพาะเชื้อจุลินทรีย์นี้มาก่อน หรือที่เรียกว่า เชื้อโปรไบโอติกส์ใส่เข้าไป สังเกตไหมถ้าเราหมักแบบวิธีธรรมชาติจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี แต่ถ้าใช้เชื้อจุลินทรีย์บริสุทธิ์เราใช้เวลาแค่ 1-2 สัปดาห์ ก็เริ่มกินได้แล้ว
เห็ดมิลค์กี้
เห็ดถังเช่าสีทอง

ถามว่า เอาเห็ดมาหมักใช้เวลาแค่ 2-3 วัน จะกินได้ไหม ด็อกเตอร์บอกว่าได้ แต่จะได้ในส่วนของเอนไซม์ แต่ว่าสรรพคุณของยาจากเห็ดจะน้อยลง แต่ถ้าหมักไปนานๆ เอนไซม์จะน้อยลงแต่สรรพคุณทางยาจะสูงขึ้น เห็ดแต่ละอย่างจะมีสารและประโยชน์ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจึงเอาเห็ดหลายๆ อย่างหมักรวมกัน และจะมีเห็ดบางชนิดที่ต้องใช้เวลาเพาะ 2-3 ปี แต่เรามีวิธีที่ง่ายกว่านั้น ยกตัวอย่าง เช่น ในปัจจุบันนี้การนำเห็ดมาทำเป็นยามีความสะดวกมากขึ้นไม่ต้องรอให้เห็ดออกดอก เราสามารถเพาะเลี้ยงเส้นใยแล้วให้ดอกเกิดในขวด นี่เป็นส่วนหนึ่งในการเอามาทำเป็นยาร่วมกับดอก ช่วยย่นเวลาไม่ต้องเพาะในโรงเรือน ไม่ต้องรดน้ำหรือเจอเชื้อโรค ใช้เวลาเพียง 20 วัน ซึ่งถ้าใช้วิธีตามปกติต้องใช้เวลา 2-3 เดือน หรือยาวเป็นปีได้

เห็ดหลินจือ

สำหรับท่านที่สนใจ อยากเรียนรู้วิธีการทำเห็ดเป็นยา ที่อานนท์ไบโอเทค มีโรงเรือนสาธิตและเปิดสอน ขั้นตอนและวิธีทำ บนเนื้อที่กว่า 6 ไร่ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. (02) 908-3308