เผยแพร่ |
---|
สวก. และ BEDO ถ่ายทอดวิธีเลี้ยง “แมลงโปรตีน BSF” เป็นอาหารสัตว์โปรตีนสูง ช่วยเกษตรกรลดรายจ่าย สร้างรายได้สู่ชุมชนควบคู่กับลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล
จากแนวโน้มของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการเนื้อสัตว์เพิ่มมากขึ้น ให้ราคาอาหารสัตว์และวัตถุดิบการผลิตอาหารสัตว์ทั้งปลาป่น ข้าวโพด และถั่วเหลือง ในตลาดขยับราคาสูงขึ้นกว่า 30 – 40 % ทั้งนี้ความต้องการอาหารสัตว์ในประเทศไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้อย่างเต็มที่เพราะมีข้อจำกัดด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ เนื่องจากไม่สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูก ปัญหาแหล่งน้ำ ปัญหาแรงงานและอื่นๆ
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.มีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรเป็นอันดับต้นๆ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานสากล พร้อมยกระดับและพัฒนาศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางภาคเกษตรและอาหารของโลก ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาทำเกษตรมูลค่าสูงมากยิ่งขึ้น ทำน้อยแต่รายได้เพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มอบนโยบายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดเร่งเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทย3 เท่าภายใน 4 ปี
สวก.จึงสนับสนุนทุนด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (RU: Research Utilization) ให้กับสํานักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ขยายผลการถ่ายทอดองค์ความรู้วิธีเลี้ยงแมลงโปรตีน BSF สำหรับเป็นอาหารสัตว์โปรตีนสูงแก่เกษตรกรด้านปศุสัตว์ และประมง เพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์ และสร้างรายได้ในระดับชุมชน ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน และเป็นการขับเคลื่อนนวัตกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
แมลงโปรตีน BSF (Black Soldier Fly) เป็นแมลงที่มีปีก 2 ปีก เช่นเดียวกับกลุ่มแมลงวัน แต่แมลงโปรตีน BSF ไม่เป็นพาหะนำโรคและไม่เป็นศัตรูพืช สามารถเจริญเติบโตได้รวดเร็ว วงจรชีวิตสั้น จากระยะไข่สู่ระยะตัวเต็มวัย ประมาณ 13 – 18 วัน ในช่วงก่อนเข้าระยะดักแด้ มีโปรตีนสูง 42 – 54 % มีกรดอะมิโนที่จำเป็นและกรดไขมันดีหลายชนิด สามารถใช้ทดแทนแหล่งโปรตีนแบบดั้งเดิม เช่น ปลาป่น (โปรตีน 41 – 42 %) และ กากถั่วเหลือง (โปรตีน 50 – 60 %)
ในระยะตัวหนอน ดำรงชีพด้วยการย่อยสลายขยะอินทรีย์ จากครัวเรือนและขยะเหลือทิ้งทางการเกษตรได้ ผลการศึกษาพบว่า BSF สามารถลดปริมาณขยะอินทรีย์ได้ 90 % ในเวลา 14 วัน ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับขยะอินทรีย์ได้ 49 % และมูลจากการเลี้ยง ยังสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยชีวภาพหรือสารบำรุงดิน เนื่องจากมูลมีไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ซึ่งล้วนแต่เป็นสารอาหารที่จำเป็นและกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช
ทาง BEDO ได้บูรณาการทำงานร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยท้องถิ่น 10 แห่ง ที่อยู่ใกล้ชิดเกษตรกร ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยไปสู่การใช้จริงของเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัด จากการติดตามผลการดำเนินงาน พบว่า เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์โดยใช้หนอนแมลงโปรตีน BSF ร่วมเป็นอาหารสัตว์สามารถลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์และยาลงได้ถึง 50 %
ขณะเดียวมีผลพลอยได้ คือมูลแมลงโปรตีน BSF ประมาณ 11,871 กิโลกรัม/ปี ใช้เป็นสารปรับปรุงดินในการปลูกผักและผลไม้ในฟาร์ม และมีราคาจำหน่ายเฉลี่ยที่ 42.14 บาท/กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 500,278 บาท/ปี สำหรับราคาขายแมลงโปรตีน BSF ในปัจจุบันจะมีราคาขายแตกต่างกัน ได้แก่ ไข่ ราคา 10 – 20 บาท / กรัม หนอนสดราคา 160 บาท / 300 กรัม หนอนอบแห้ง ราคา 300 – 600 บาท / กก. มูลหนอน ราคา 50 – 80 บาท / กิโลกรัม
นายธีระพงษ์ ฤทธิมนตรี เจ้าของฟาร์มไก่สวยงาม หนึ่งในเกษตรกรผู้ใช้แมลงโปรตีน BSF ทดแทนหนอนนกที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 500 – 600 บาท เล่าว่า หลังเข้าร่วมอบรมการเลี้ยงแมลงโปรตีน BSF กับทางมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา ได้นำแมลงโปรตีน BSF มาใช้เลี้ยงไก่สวยงาม สามารถลดต้นทุนอาหารได้จริง จากเดิมต้นทุนเฉลี่ยขั้นต่ำเดือนละประมาณ 15,000 บาท ลดเหลือเพียงเดือนละประมาณ 7,000 บาท หลังจากเลี้ยงได้ 3 เดือน สุขภาพไก่ดีขึ้น โตไวขึ้น ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นไม่เจ็บป่วยง่าย ไข่ดี บางตัวที่ไม่ไข่กลับมาไข่ ปัจจุบันไม่ต้องให้ไก่กินยาถ่ายพยาธิอีก แมลงโปรตีน BSF เป็นสิ่งพิเศษที่ไก่ควรได้รับและช่วยลดต้นทุนด้านอาหารได้จริง
ด้านนางนุชกัญญา ลิ้มสุวัฒนา เจ้าของฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด ที่เคยแบกภาระต้นทุน อาหารสำเร็จรูปสำหรับจิ้งหรีดที่มีราคาแพง หลังจาก อบรมการเลี้ยงแมลงโปรตีน BSF และกลับมาลองใช้เลี้ยงจิ้งหรีดในฟาร์ม สามารถลดต้นทุนอาหารจากเดือนละ 50,000 – 60,000 บาท เหลือแค่เดือนละ 30,000 บาท ขณะเดียวกัน จิ้งหรีดในฟาร์มมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น จากเดิมที่เคยประสบปัญหาจิ้งหรีดตายเยอะมากในช่วงอากาศร้อน หลังใช้แมลงโปรตีน จิ้งหรีดตายน้อยมาก ปัจจุบันทางฟาร์มได้เพาะ BSF ใช้เอง และแบ่งขายให้กับผู้สนใจ มีรายได้เดือนละ 10,000 บาท วางแผนนำมูลหนอนมาทำเป็นปุ๋ยคุณภาพสูงในการเลี้ยงไม้ดอก ไม้ประดับ และพืชผักสวนขายในฟาร์มอีกด้วย
“แมลงโปรตีน BSF” เป็นหนึ่งธุรกิจใหม่ที่ตอบสนองความยั่งยืนให้กับธุรกิจอาหารสัตว์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายระบบนิเวศ ที่สำคัญช่วยส่งเสริมให้สัตว์มีสุขภาพที่ดีขึ้น ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมการใช้ประโยชน์ สวก. เบอร์โทรศัพท์. 0 2579 7435 ต่อ 3307