สวก. ปลุกพลังธุรกิจอาหารไทย โชว์ผลงานวิจัย-นวัตกรรมสุดล้ำใน ‘Thaifex 2024’

ในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงทุกแง่มุมของชีวิต การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจอาหารให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ภาคอุตสาหกรรมอาหารไม่เพียงแต่ต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ยังต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและอาหาร เพื่อยกระดับมาตรฐานการเกษตรของประเทศและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงได้เปิดตัวเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ด้านอาหารให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายที่สนใจเจรจาธุรกิจเพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยีในงาน THAIFEX – Anuga Asia 2024 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พ.ค. – 1 มิ.ย. 67 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด ‘Food Tech : เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก พลิกธุรกิจอาหารด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม’

สำหรับงาน THAIFEX – Anuga Asia 2024 ถือเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รวบรวมผู้ประกอบการมากกว่า 52 ประเทศ ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก อาทิ เอเชียตะวันออก อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง เป็นต้น ถือเป็นเวทีในการสร้างเครือข่าย เพื่อเจรจาการค้ากับผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนเป็นพื้นที่ในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารของไทยได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน ในปีนี้มีผู้ซื้อและผู้นำเข้าจากทั่วโลกให้ความสนใจเดินทางมาร่วมงานกว่า 138,000 ราย ซึ่งตลอดการจัดงานทั้ง 5 วัน สามารถสร้างมูลค่าการสั่งซื้อไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท โดยประเทศที่มีการสั่งซื้อมากที่สุด ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ตามลำดับ และสินค้าที่มีการซื้อขายมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม อาหารแช่แข็ง และอาหารทะเล

ทางด้าน สวก. ที่ได้สนับสนุนทุนวิจัยในแผนงานวิจัยความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการของประเทศไทย และ rains for thailand food valley ปัจจุบันมีโครงการวิจัยด้านอาหารที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ไม่น้อยกว่า 20 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้เปิดตัวเทคโนโลยีเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้านผลิตภัณฑ์อาหารในงานดังกล่าว ถือเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการของไทยได้รับผลประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนาจากงานวิจัย ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพและการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังมีประโยชน์ต่อภาคการเกษตรที่จะแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการต่อยอดผลผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

Advertisement

นอกจากนี้ การนำเสนอผลงานวิจัยของ สวก. ยังได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก  โดยทุกคนต่างให้การสนใจผลงานวิจัยเหล่านี้ เนื่องจากสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจอาหารไทยได้จริง และมีคุณค่าทางโภชนาการ ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผลงานวิจัยที่ได้นำไปจัดแสดงในงาน THAIFEX – Anuga Asia 2024 แบ่งออกเป็นดังนี้

Advertisement
  1. ผลงานวิจัยที่มีผู้ประกอบการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี (ร่วมออกบูธกับ สวก.) จำนวน 8 ราย/ผลิตภัณฑ์ อาทิ ผลิตภัณฑ์ผักเคลผง จากบริษัท ฟาร์มสีสด จำกัด, ชารอยบอสไม่มีคาเฟอีน จากบริษัท อะฟีล อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด, กาแฟลดสารอะคริลาไมด์ จากบริษัท สยาม สมาร์ต อินโนเวชั่น จำกัด, ผลิตภัณฑ์สาหร่ายฟองเต้าหู้ทอดกรอบ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ขนมแปรรูปบ้านโพธิ์งาม อ.เมือง จ.นครนายก เป็นต้น
  2. ผลงานวิจัยที่มีผู้ประกอบการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จำนวน 20 ผลิตภัณฑ์ อาทิ ผลิตภัณฑ์ซุปไก่ผักรวม Malila, ผลิตภัณฑ์เส้นบุกคุมหิว, ผลิตภัณฑ์ซอสหมักเนื้อสมุนไพร, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโปรตีนสกัดจากไข่น้ำ, เครื่องดื่มน้ำนมข้าวยาคูออร์แกนิค เป็นต้น
  3. ต้นแบบผลงานวิจัยพร้อมใช้ด้านอาหารและอาหารเสริมสุขภาพ จำนวน 35 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่
    1. โครงการ ‘การบริหารจัดการเพื่อพัฒนา RAINS for Thailand Food Valley : Chiang Rai Food Valley’ ประจำปี 2565-2566 จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ เช่น ไซรัปเยื่อหุ้มเมล็ดโกโก้ ข้าวอบกรอบญี่ปุ่นผสมแมคคาเดเมีย เป็นต้น
    2. โครงการ ‘การบริหารจัดการเพื่อพัฒนา RAINS for Thailand Food Valley ภาคกลาง’ ประจำปี 2565-2566 จำนวน 14 ผลิตภัณฑ์ เช่น เส้นผัดไทย เครื่องดื่ม MCT oil ไข่ต้มจากพืช เป็นต้น
    3. โครงการ ‘การบริหารจัดการเพื่อพัฒนา RAINS for Thailand Food Valley ภาคอีสานตอนล่าง’ ประจำปี 2564 และ ปี 2566 จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ เช่น แคบโคขุน ซุปหางวัวต้มยำ เป็นต้น
    4. โครงการ ‘การบริหารจัดการเพื่อพัฒนา RAINS for Semi-Industrial Food Valley (Functional food and Personalized food)’ ประจำปี 2566 จำนวน 1 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ขนมอาลัวสมุนไพร
    5. โครงการ ‘แผนงานวิจัย RAINs for Lower Central Provinces Food Valley’ ประจำปี 2565 จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ เช่น ข้าวเม่ามี่วีแกนบอล (ข้าวเม่าหมี่วีแกนบอล) คุกกี้ลำดวนผสมข้าวไรซ์เบอร์รี่
    6. โครงการ ‘การบริหารจัดการเพื่อพัฒนา RAINS for Thailand Food Valley ภาคกลาง : ศูนย์การพัฒนากระบวนการผลิตและสร้างมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบพื้นถิ่นสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร’ ประจำปี 2564 จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่  กล้วยป๊อปจากแป้งกล้วยหอม ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพจากฟักข้าว
  1. ผู้ประกอบการที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานวิจัย สวก. และออกบูธในงาน จำนวน 13 ราย เช่น บริษัท ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร ซีพีเอฟ จำกัด, บริษัท ศูนย์วิทยาศาสตร์เบทาโกร จำกัด, บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด, บริษัท บางกอกแร้นช์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เบนดิโต้ แกลเลอรี่ จำกัด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้ง 5 วันของการจัดงาน มีผู้เข้าชมงานให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชมบูธของ สวก. ภายใต้แนวคิด ‘Food Tech : เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก พลิกธุรกิจอาหารด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม’ รวมกว่า 3,250 ราย และมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาข้อเสนอโครงการหรือร่วมสนับสนุนทุนวิจัย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารจากพืช (Plant Based) และผลิตภัณฑ์สุขภาพจากของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต จำนวน 30 ราย เป็นต้น

ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับความสนใจในงาน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์เคลผง 2) ผลิตภัณฑ์สาหร่ายฟองเต้าหู้ทอดกรอบ และ 3) ชารอยบอสไม่มีคาเฟอีน ตามลำดับ ซึ่งจะมีรายได้ที่เกิดขึ้นในงานประมาณ 45 ล้านบาท จากคู่ค้าต่างประเทศ อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม และสิงคโปร์

ด้วยความมุ่งมั่นในการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จึงพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจอาหารไทย ให้สามารถรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจอาหารไทย และยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล