รัฐ ผนึก เอกชน เร่งเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ชวนชมนวัตกรรมกรีน SCG ในงาน SX2024

การเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรง เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง และ PM2.5 นับเป็นปัญหาหลักของประชาคมโลก ที่มีสาเหตุจากวิกฤตโลกเดือด 

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาโลกเดือดในระยะยาว โดยในปีที่ผ่านมา มีการผนึกกำลังทำงานแบบบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ที่ต่างร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียวในการทำภารกิจที่ท้าทายนี้

ล่าสุด วันที่ 30 กันยายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แสดงวิสัยทัศน์ หัวข้อ “การผลักดันศักยภาพประเทศไทย เพื่อเร่งเปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำไปด้วยกัน” ในงาน “ESG SYMPOSIUM 2024: Driving Inclusive Green Transition” กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลกนั้น ส่งผลกระทบต่อภัยธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง โดยมีภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องคนไทยถึง 137 ครั้ง ทำให้ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 9 ในเรื่องของประเทศที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ 

เหตุการณ์ที่น่ากังวลและเกิดขึ้นแล้วในรอบปี 2567 ที่ผ่านมา คือ เมื่อเดือนเมษายน พบอากาศร้อนจัด ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีอุณหภูมิไม่น้อยกว่า 40 องศาเซลเซียส และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง เมื่อเดือนกันยายน มีภาวะฝนตกหนัก เกิดจากร่องมรสุมที่พัดผ่านประเทศไทย ส่งผลให้ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนบางพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ฝนตกติดต่อกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน ในโอกาสเดียวกัน หรือเรียกว่า Rain Bomb เป็นฝนที่ถล่มชุมชนเเละถล่มตามภูมิภาคต่างๆ 

“ครั้งนี้มีพายุดินโคลนถล่มที่เชียงราย โคลนดินมีความหนาหลายเมตร บางแห่งหนาประมาณหนึ่งชั้น หรือประมาณสองเมตรกว่า เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ถ้าเรามองข้ามไปเเล้ว เราอาจจะสูญเสียโอกาสหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ กระทบต่อระบบสังคมของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง รัฐบาลตระหนักดีว่าการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นวาระที่สำคัญของไทย เเละของทุกประเทศในโลกนี้” 

Advertisement

รองนายกฯ และ รมว.ดีอี อธิบายต่อว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับผลกระทบหลักๆ หลายเรื่อง อาทิ การจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะผลจากการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง รวมถึงการกระจายน้ำที่ไม่มีความสมบูรณ์ให้กับพี่น้องเกษตรกร เรื่องของความมั่นคงทางอาหาร เป็นสิ่งที่กระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นรายได้หลักของประเทศ และเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการศึกษาอย่างถ่องเเท้ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้น ในการที่จะส่งเสริมการเเข่งขันของประเทศให้มีความพร้อมมากขึ้น เรื่องการสาธารณสุข โรคภัยไข้เจ็บที่มากับภาวะอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเเละการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดแผนและยุทธศาสตร์ระดับประเทศเเละพื้นที่ โดยมีตัวชี้วัดที่มีความชัดเจน 

Advertisement

“นอกจากรัฐบาลจะทำแล้ว ภาคธุรกิจเองก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกัน การแสวงหาโอกาสและการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เรื่องของ Net Zero บูรณาการความยั่งยืน หรือ ESG เพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพ สร้างสังคมที่มีคุณภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะเปลี่ยนแปลงความท้าทาย แรงกดดัน และข้อจำกัด เป็นพลังงานในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ การมีส่วนร่วมคือปัจจัยของความสำเร็จ รัฐบาลจะขับเคลื่อนทุกนโยบาย เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย ไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน และมีความสมดุล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังต่อไป” รองนายกฯ และ รมว.ดีอี กล่าวทิ้งท้าย

พบกับ นวัตกรรมกรีนเพื่อเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ ที่บูธ SCG ภายในงาน Sustainability Expo 2024 โซน Better Community ชั้น G ได้ ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) โดยสามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมของ SX ได้ทาง Facebook Page : Sustainability Expo, www.sustainabilityexpo.com และ Line OA @sxofficial