เผยแพร่ |
---|
ในยุคที่ภาคการเกษตรต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ต้นทุนที่สูงขึ้น ความผันผวนของตลาด รวมถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้เกษตรกรต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา รัฐบาล โดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร มุ่งขับเคลื่อนนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ตั้งเป้าให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี การพัฒนาครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำในภาคการผลิตไปจนถึงการแปรรูปและส่งออกสู่ตลาดโลก
โดยจัดทำพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและอาชีพของเกษตรกรในจังหวัดชัยนาท ภายใต้ชื่อ “ชัยนาทโมเดล” เป้าหมายเบื้องต้นคือ การพัฒนาและส่งเสริมให้เกษตรกรจำนวนมากกว่า 100 ครอบครัว ได้มีอาชีพเลี้ยงโคเนื้อ โดยมุ่งให้องค์ความรู้ สนับสนุนแหล่งเงินทุน ใช้ปัจจัยการผลิตท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร พร้อมหาช่องทางการตลาด เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดความเสี่ยงด้านการผลิตและการตลาดจากการผลิตพืชเพียงอย่างเดียว
ที่ผ่านมา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในฐานะหน่วยงานหลักด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทย ดำเนินการขับเคลื่อน โครงการพัฒนาและยกระดับฟาร์มโคเนื้อสู่เกษตรมูลค่าสูง ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท เพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดชัยนาท ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกณฑ์กำหนดของมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ (มกษ.6400-2555) สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีความสอดคล้องเป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมยื่นขอใบรับรอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้า
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 มกอช. จัดงานสัมมนาและสรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาและยกระดับฟาร์มโคเนื้อสู่เกษตรมูลค่าสูง พร้อมมอบใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ (มกษ.6400-2555) แก่เกษตรกร จำนวน 11 ราย ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท
นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า วันนี้เป็นการสรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาและยกระดับฟาร์มโคเนื้อสู่เกษตรมูลค่าสูง ในปี 2567 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง มกอช. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในจังหวัดชัยนาท โดยสามารถรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ (มกษ. 6400-2555) ให้แก่เกษตรกรจำนวน 11 ราย และหวังว่าจะสามารถขยายเครือข่ายของเกษตรกรกลุ่มนี้ให้เพิ่มขึ้นในปี 2568 ภายใต้การดูแลที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งในเรื่องของอาหารสัตว์ เชื่อมโยงไปสู่ตลาด เพื่อยกระดับให้โคเนื้อสามารถเพิ่มมูลค่าได้ พร้อมทั้งขยายผลชัยนาทโมเดลไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน
“ฝากถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ อยากให้เข้ามาร่วมกันยกระดับคุณภาพโคเนื้อของท่าน ให้ผ่านการรับรองมาตรฐานโคเนื้อ ที่ทาง มกอช. และกรมปศุสัตว์ร่วมกันดำเนินการ หากเกษตรกรรายไหนต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของการผลิต ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุดิบ หรือสายพันธุ์ สามารถติดต่อผ่านทางปศุสัตว์จังหวัดและปศุสัตว์อำเภอได้ และในส่วนของผู้บริโภค อยากให้ท่านเลือกซื้อเนื้อโคที่ผ่านการรับรองมาตรฐานโคเนื้อ มั่นใจได้ว่าท่านจะได้เนื้อคุณภาพดี ปลอดภัย ไร้สารพิษ”
หลังจากนั้น มกอช. และคณะ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมฟาร์มโคเนื้อที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ (มกษ.6400-2555) ณ โพธิ์ทองฟาร์ม และ ประภัสฉันชนกฟาร์ม ตำบลสะพานหิน อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท
นายธวัชชัย งอยภูธร เจ้าของโพธิ์ทองฟาร์ม เผยว่า โพธิ์ทองฟาร์ม เริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 มีพื้นที่ทั้งหมด 50 ไร่ โค 42 ตัว แบ่งเป็น 4 สายพันธุ์ ได้แก่ บราห์มัน ชาโรเลส์ แองกัส และบีฟมาสเตอร์ สำหรับจุดเริ่มต้นของการทำฟาร์มโคเนื้อ มาจากก่อนหน้านี้ทำไร่อ้อย แต่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้สูญเสียทั้งหมด จึงทดลองเปลี่ยนมาเลี้ยงโค เพราะต้นทุนน้อย ใช้น้ำน้อย รวมถึงตนเองมีแปลงปลูกหญ้าอยู่แล้ว นอกจากนี้ มองว่าโคสามารถออกลูกขยายพันธุ์ต่อไปได้ นับเป็นแนวทางผลักดันตนเองสู่เกษตรกรยั่งยืน
“มกอช. เข้ามาช่วยให้คำแนะนำ วางแผนการจัดการที่ดี ใบรับรองมาตรฐานฟาร์มโคเนื้อสำคัญมากสำหรับเกษตรกร เพราะช่วยยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเราให้สูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพเนื้อให้สามารถส่งเข้าโรงเชือดได้ รวมถึงส่งออกได้”
ด้าน นายสนอง สระเสริม เจ้าของประภัสฉันชนกฟาร์ม เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงโคว่า ตนเองเคยไปรับรางวัลเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่จังหวัดเลย และได้พูดคุยกับลุงคนหนึ่งที่บอกว่า “เลี้ยงโคสามารถส่งลูกจนจบปริญญาตรี” หลังจากนั้นจึงได้ปรึกษากับครอบครัวและกู้เงินจาก ธ.ก.ส. จำนวน 1 แสนบาท เพื่อทดลองซื้อแม่พันธุ์มาผสมเทียม
“เมื่อก่อนบ้านเราแล้งจัด 2 ปีติดต่อกัน ทำนาข้าวไม่ได้ผล และด้วยความที่พื้นที่เป็นที่ราบสูง เหมาะสำหรับเลี้ยงสัตว์ จึงหันมาเลี้ยงโคเป็นอาชีพหลัก ทุกวันนี้ขายโคเดือนละ 20,000 บาท ก็อยู่ได้ แต่ทำนา 1 ครั้ง 3 เดือนขายข้าวก็หมดแล้ว ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าลงทุน ถ้าผมไม่ได้ไปรับรางวัล ก็คงไม่มีโคชุดนี้
ขอบคุณ มกอช. ที่ให้คำแนะนำ ดูแลเอกสาร ถามว่ายุ่งยากไหม ก็ไม่ยากหรอก อยู่ที่ใจเรา เน้นความสะอาด เน้นการดูแลโคของเรา ถ้าโคเป็นโรคก็ติดต่อปศุสัตว์มาดูแลให้ ผมตั้งใจปรับปรุงพื้นที่ให้ดีที่สุด เพื่อให้ได้ฟาร์มมาตรฐานและเป็นที่ศึกษาดูงานต่อไป” นายสนอง กล่าวทิ้งท้าย