เผยแพร่ |
---|
ในแต่ละปีเกษตรกรมีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 1,364,800 ตัน ซึ่งเมื่อรวมปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพที่ผลิตจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งทางกรมการข้าวนั้นสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เพียงปีละ 95,000 ตัน ทำให้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งศูนย์วิจัยข้าวที่ดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์คัดชั้นพันธุ์หลักที่เป็นต้นน้ำของการผลิตเมล็ดพันธุ์ มีเครื่องจักรและอุปกรณ์ในกระบวนการต่างๆ มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำ มีอายุการใช้งานยาวนาน ชำรุดทรุดโทรม ไม่รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงได้มีการจัดทำโครงการปรับปรุงระบบการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 เพื่อปรับปรุงระบบการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ เพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ โดยหน่วยงานหลักที่เป็นผู้ดูแลโครงการนี้ก็คือ กองวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว หน่วยงานภายใต้กรมการข้าว ที่มีหน้าที่หลักในการวิจัย พัฒนา และปรับปรุงพันธุ์ข้าวทั้งระบบ เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพสูง รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
ผอ.กุลศิริ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาข้าว กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า “เมล็ดพันธุ์ข้าวยังมีไม่มากพอต่อความต้องการของเกษตรกร เกษตรกรปีหนึ่งต้องการเป็นล้านตัน แม้กองวิจัยและพัฒนาข้าวจะมีศูนย์วิจัยอยู่ทั้งหมด 27 แห่ง ทั่วประเทศ และสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติที่จังหวัดสุพรรณบุรีอีก 1 แห่ง ทำการผลิตเมล็ดพันธุ์อย่างเต็มศักยภาพ ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร”
“ท่านอธิบดี และผู้บริหาร จึงเล็งเห็นความสำคัญตรงนี้ว่าต้องมีการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ จำเป็นที่จะต้องมีโรงงานที่ทันสมัยในการที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี แล้วก็โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงบประมาณ ที่เห็นความสำคัญตรงนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งโครงการ”
นอกจากนี้ ผอ.กุลศิริ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ข้าวเป็นพืชที่ผสมตัวเอง เพราะฉะนั้นปลูกไปครั้งสองครั้งจะมีการกลายพันธุ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีงานผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์บริสุทธิ์ ซึ่งจะประกอบด้วย 4 ชั้นพันธุ์ ได้แก่ ชั้นพันธุ์คัด ชั้นพันธุ์หลัก ชั้นพันธุ์ขยาย และชั้นพันธุ์จำหน่าย ซึ่งงานของกองวิจัยและพัฒนาข้าวจะทำหน้าที่ดูแลชั้นพันธุ์คัดและชั้นพันธุ์หลัก ซึ่งเป็นต้นทางของเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ส่วนชั้นพันธุ์ขยายและชั้นพันธุ์จำหน่ายเป็นหน้าที่ของกองเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะส่งต่อไปให้เกษตรกรเป็นคนขยายพันธุ์”
คุณกิติพงษ์ จันหอม นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กล่าวถึงขั้นตอนในการผลิตเมล็ดพันธุ์ ชั้นพันธุ์คัดและชั้นพันธุ์หลัก ว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก “เราจะคัดจากรวงที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สีต้น ทรงกอ ใบธง คอรวง ถ้าเกิดมีแถวใดที่เป็นพันธุ์ปนแล้วหรือแค่ต้องสงสัย ก็จะทำการถอนทิ้งทั้งแถวทันที เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่บริสุทธิ์ที่สุด”
นอกจากนี้ คุณกิติพงษ์ ยังได้กล่าวถึงข้อดีของโครงการนี้ว่า “โครงการนี้ทำให้ขั้นตอนการผลิตเมล็ดพันธุ์มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ทำให้ง่ายต่อการวางแผนการทำงาน ไม่จำเป็นต้องนำเมล็ดพันธุ์ไปตากไว้กลางแดดเหมือนแต่ก่อน ลดความเสียหาย ทำให้ได้ผลผลิตดี คนทำงานก็มีความสุข”
คุณเอนิสา รัตนเรืองบวร นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กล่าวถึงขั้นตอนในการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อคงคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าว “หลังจากเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ จะคัดทำความสะอาดเบื้องต้น แล้วเข้าสู่กระบวนการอบลดความชื้น เพื่อรักษาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ โดยต้องลดความชื้นให้เหลือประมาณ 11-12% หลังจากลดความชื้นจะทำการคัดเมล็ดพันธุ์ด้วยเครื่องคัดเมล็ดพันธุ์แบบใช้ตะแกรงและแรงลม คัดแยกโดยใช้ความแตกต่างของขนาดและน้ำหนัก และต่อเนื่องไปยังเครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ตามความถ่วงจำเพาะ โดยคัดแยกสิ่งเจือปนที่มีขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกับข้าวเปลือก หลังจากนั้นจึงจะทำการบรรจุ ซึ่งจะมีการใช้ระบบแขนกลเข้ามาช่วย ลดการใช้แรงงานคน ลดอัตราการสูญเสียเมล็ดพันธุ์ โครงการนี้ทำให้เราสามารถควบคุมปัจจัยทุกอย่างได้ทั้งหมด วางแผนได้ตั้งแต่การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการบรรจุ”
ผอ.อมรรัตน์ อินทร์มั่น ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กล่าวถึงข้อดีที่ส่งผลต่อการทำงานของสถาบัน และส่งผลต่อเกษตรกร “ในสมัยก่อนเวลาเกี่ยวข้าวมาใหม่ๆ ก็ต้องนำมาตากแดดลดความชื้นที่ลานปูนทันที ซึ่งถ้าเป็นหน้าฝนจะไม่สามารถตากแดดได้เลย แต่โครงการนี้สามารถช่วยให้เราควบคุมทุกอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดความชื้น เรื่องการคัดเมล็ด เรื่องการบรรจุ ที่สำคัญเราจะสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ในปริมาณที่มากกว่าแต่ก่อน เพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกร และเมื่อเกษตรกรนำเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพไปใช้ ก็จะช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร”
ผอ.กุลศิริ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาข้าว กล่าวทิ้งท้ายว่า “เมื่อชาวนาได้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีผลผลิตสูง ในขณะที่ต้นทุนเท่าเดิม เวลานำไปขายก็จะได้กำไรมากขึ้น กับอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ตรงตามพันธุ์ ก็จะใช้ปริมาณในการปลูกน้อยลง ตรงนี้จะเป็นการช่วยลดต้นทุน เกษตรกรจะได้แบบ 2 เด้งเลย เพราะฉะนั้นต้องบอกว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ขอบคุณรัฐบาล ขอบคุณผู้บริหารกรมการข้าว สิ่งที่จะส่งผลชัดเจนที่สุดก็คือ ทุกภาคส่วนที่ต้องบริโภคข้าวจะได้ของคุณภาพดี รวมถึงชาวนาผู้ผลิตก็จะมีความสุขด้วย เพราะมีรายได้และมีกำไรมากขึ้น”