ต้นแบบการพัฒนาการเกษตรบนพื้นที่สูง ‘ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ’ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและรักษาสิ่งแวดล้อม

เมื่อพูดถึงจังหวัดน่าน ภาพในใจของใครหลายคนมักเป็นความสงบงามของทิวเขา วิถีชีวิตเรียบง่าย และธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ แต่เบื้องหลังภาพฝันเหล่านั้น อำเภอบ่อเกลือกลับสะท้อนเรื่องราวอีกด้านที่ต่างออกไป ชุมชนในพื้นที่ห่างไกลแห่งนี้กำลังเผชิญกับปัญหาซ่อนเร้น ทั้งความขาดแคลนอาหาร และผลผลิตที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน

ด้วยพื้นที่ลาดชันถึง 80% การเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะการปลูกข้าวไร่ กลายเป็นทางเลือกจำเป็นของชาวบ้าน แต่ผลผลิตที่ต่ำและการถางป่าเพื่อปลูกพืชซ้ำๆ ได้ก่อให้เกิดวงจรปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ชุมชนบ่อเกลือไม่ได้เพียงแค่ต่อสู้กับภูมิประเทศที่ท้าทาย แต่ยังต้องเผชิญความท้าทายในเรื่องปากท้องอย่างต่อเนื่อง

จากสถานการณ์ดังกล่าว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงพระราชทานแนวทางการพัฒนา และโปรดฯ ให้จัดตั้ง ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนในทุกมิติ เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้กับชาวบ้าน ให้พวกเขามีโอกาสทั้งฟื้นฟูป่าไม้และสร้างรายได้ไปพร้อมกัน นี่คือจุดเริ่มต้นของความหวังสู่ชีวิตที่ยั่งยืนและอนาคตที่มั่นคงของคนบ่อเกลือ

ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

นายรุ่งโรจน์ ก๋าวงศ์ หัวหน้าศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ ฉายภาพปัญหาทรัพยากรธรรมชาติในอำเภอบ่อเกลือว่า เดิมทีการทำไร่เลื่อนลอยและการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นสาเหตุที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ถูกทำลายอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการทำข้าวไร่ที่มีการหมุนเวียนใช้พื้นที่เดิมซ้ำๆ ทำให้ผลผลิตต่ำและต้องใช้พื้นที่จำนวนมากในการเพาะปลูก จนทำให้สภาพป่าและพื้นที่ธรรมชาติในพื้นที่เหลือเพียงพื้นที่ที่ถางและเผา จึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติสูญหายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทำให้ความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านไม่มั่นคง

ในด้านการแก้ไขปัญหานี้ นายรุ่งโรจน์ได้ยกแนวทางการพัฒนาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ต้องการให้ชาวบ้านมีความมั่นคงทางอาหารเป็นหลัก ก่อนจะสร้างรายได้จากการฟื้นฟูป่าและการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมเน้นย้ำว่าการพัฒนาของศูนย์ภูฟ้าฯ ได้ยึดหลักการพระราชดำริในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับเกษตรกร โดยการปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และใช้วิธีการเกษตรที่ไม่ทำลายธรรมชาติ

Advertisement

หนึ่งในแนวทางที่สำคัญของโครงการคือการส่งเสริมการปลูกพืชในรูปแบบ “ป่าหมุนเวียน” หรือ “การปลูกพืช 4 ชั้น” ซึ่งได้แก่ไม้ป่าชั้นยอด เช่น ประดู่ ไม้สัก ชั้นรอง เช่น ต๋าว ไม้ผล และพืชพุ่ม เช่น กาแฟ หวาย และสมุนไพรที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ในขณะเดียวกันก็สามารถฟื้นฟูป่าและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ นอกจากนี้ โครงการศูนย์ภูฟ้ายังขยายผลไปยังชุมชนในพื้นที่รอบๆ โดยการส่งเสริมให้ชาวบ้านเข้าร่วมโครงการปลูกพืชที่ศูนย์ได้พัฒนาขึ้น โดยให้การสนับสนุนเรื่องพันธุ์พืช ระบบน้ำ และองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถปลูกพืชเหล่านี้ได้และสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงรายได้ให้กับชุมชน

(นายรุ่งโรจน์ ก๋าวงศ์ นักจัดการในพระองค์)
(นายรุ่งโรจน์ ก๋าวงศ์ นักจัดการในพระองค์)

ผลลัพธ์จากการดำเนินงานจนถึงปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจนคือการฟื้นฟูสภาพป่าอำเภอบ่อเกลือให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ขณะเดียวกัน ชาวบ้านในพื้นที่ก็เริ่มมีความมั่นคงทางอาหารและรายได้จากการปลูกพืชหลากหลายชนิด แม้ว่าในตอนนี้รายได้จากการปลูกพืชแบบผสมผสานจะยังไม่สูงเท่ากับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่กลับช่วยลดความเสี่ยงจากราคาผลผลิตที่ผันผวนหรือการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ไม่แน่นอนในบางปี ซึ่งทำให้ชาวบ้านมีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว

Advertisement

“โครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ ไม่เพียงแต่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังเป็นแบบอย่างที่สามารถขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งคนและป่า การพัฒนานี้จะเสริมสร้างความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม พร้อมลดผลกระทบจากการเกษตรแบบดั้งเดิมที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ” คุณรุ่งโรจน์ กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการศูนย์ภูฟ้าฯ

กรมการข้าวพลิกชีวิตชุมชนพื้นที่สูง มุ่งสู่ความมั่นคงทางอาหาร

นอกเหนือจากการดำเนินงานของศูนย์ภูฟ้าแล้ว อีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ คือ ‘กรมการข้าว’ ซึ่งได้เข้ามามีส่วนช่วยในการปรับพื้นที่และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ทั้งในพื้นที่นาและพื้นที่ไร่ เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ การปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวที่ทนทานและเหมาะสมกับพื้นที่ ไม่เพียงแค่เพิ่มผลผลิตต่อไร่ แต่ยังเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ยั่งยืนในระยะยาว

(ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว)
(ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว)

ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวมุ่งมั่นในการส่งเสริมการปลูกข้าวในพื้นที่โครงการศูนย์ภูฟ้าฯ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่เกษตรกรในชุมชน โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวที่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน ลดการพึ่งพาภายนอก และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงในการเพิ่มความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ยั่งยืน

เพื่อแก้ไขปัญหาที่ยังท้าทายอยู่ในพื้นที่สูงและลาดชัน กรมการข้าวได้เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาการปลูกข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยการนำเทคโนโลยีและวิธีการใหม่ๆ เช่น การปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ทนทานและสามารถเพิ่มผลผลิตในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ รวมถึงการใช้เทคนิคการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มผลผลิตและความมั่นคงทางอาหาร แต่ยังสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร ส่งผลให้โครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กลายเป็นโครงการที่ยั่งยืนและเป็นแบบอย่างในการพัฒนาชุมชนทั้งด้านอาหารและเศรษฐกิจ

การเข้ามาของกรมการข้าวไม่เพียงแต่ตอบโจทย์เรื่องข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค เริ่มแรกกรมการข้าวทดสอบและคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวเพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอต่อการบริโภค และในส่วนของเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ กรมการข้าวยังส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงที่ใช้ในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างผลผลิตให้กับเกษตรกร

“ภาพรวมของพื้นที่นี้หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวนาดำ พบว่าเกษตรกรมีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น พื้นที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น และป่ากลับมาเติบโต ซึ่งทำให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” รองอธิบดีกรมการข้าวกล่าวทิ้งท้าย