เผยแพร่ |
---|
อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน หนึ่งในพื้นที่สูงที่เผชิญปัญหาข้าวไม่พอกินมาหลายปี เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ต้องรับมือกับความท้าทายด้านภูมิประเทศและสภาพดินที่เสื่อมโทรมจากการทำไร่เลื่อนลอย ประกอบกับการขาดเทคโนโลยีและพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม ส่งผลให้ผลผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคในบางหมู่บ้าน ปัญหานี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน และโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น
เพื่อแก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึก กรมการข้าว ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ภายใต้ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยตั้งเป้าสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในพื้นที่อย่างยั่งยืน
นายสุทธกานต์ ใจกาวิล นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ จาก ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ เผยข้อมูลว่า อำเภอบ่อเกลือมีพื้นที่ปลูกข้าวนาดำประมาณ 4,005 ไร่ และข้าวไร่กว่า 19,375 ไร่ โดยในพื้นที่โครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนา มีการปลูกข้าวนาดำ 662 ไร่ และข้าวไร่ 3,497 ไร่ ข้าวที่ปลูกในพื้นที่มีทั้งพันธุ์สันป่าตอง 1 และ กข 22 สำหรับข้าวนาดำ ส่วนข้าวไร่เป็นพันธุ์พื้นเมือง เช่น ข้าวขาวภูฟ้า และข้าวก่ำพื้นเมือง
อย่างไรก็ตาม แม้ข้าวที่ปลูกในตำบลจะเพียงพอต่อการบริโภคโดยรวม แต่ยังมีบางหมู่บ้านที่เผชิญปัญหาข้าวไม่เพียงพอ เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ และการกระจายผลผลิต เพื่อยกระดับการผลิตข้าวและสร้างความมั่นคงทางอาหาร กรมการข้าว ได้ดำเนินโครงการพัฒนาครอบคลุม 4 แนวทางหลัก เพื่อแก้ปัญหาข้าวไม่พอกินและสร้างความมั่นคงในพื้นที่ ดังนี้
1.การทดสอบและการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่
เหมาะสมกับพื้นที่สูง อำเภอบ่อเกลือมีลักษณะภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศเฉพาะตัว ทำให้การเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมมีความสำคัญ กรมการข้าวได้ดำเนินการทดสอบและพัฒนาพันธุ์ข้าว เช่น พันธุ์ขาวภูฟ้า ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมืองที่ปรับตัวได้ดีในพื้นที่สูง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 316 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมความทนทานต่อโรค และ พันธุ์สันป่าตอง 1 ซึ่งเหมาะสำหรับนาดำ ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 630 กิโลกรัมต่อไร่ การพัฒนาพันธุ์เหล่านี้ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศและโรคพืช พร้อมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนให้เกษตรกร
- การปลูกพืชหลังนาเพื่อเสริมรายได้ หลังฤดูเก็บเกี่ยว กรมการข้าวส่งเสริมการปลูกพืชหลังนาเพื่อเพิ่มรายได้ เช่น บักวีต (Buckwheat) ซึ่งปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย และสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น เส้นโซบะและชาบักวีต และ พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียวและถั่วลิสง ที่ช่วยเพิ่มไนโตรเจนในดินและปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ การปลูกพืชหลังนาไม่เพียงสร้างรายได้เพิ่มเติม แต่ยังฟื้นฟูดิน ลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมี และส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน
- การปลูกข้าวด้วยเทคโนโลยีใหม่ การปลูกข้าวในพื้นที่สูงได้รับการพัฒนาโดยการใช้เทคโนโลยี เช่น การโยนกล้าอย่างแม่นยำ ซึ่งลดการใช้แรงงานและต้นทุนเมล็ดพันธุ์ได้ถึง 75% พร้อมเพิ่มผลผลิตได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับการปักดำแบบดั้งเดิม นอกจากนี้กรมการข้าวยังสนับสนุนเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ปุ๋ย และสารปรับปรุงดิน รวมถึงจัดทำแปลงเรียนรู้ให้เกษตรกรได้ทดลองและพัฒนาทักษะ การส่งเสริมการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเกษตรกรยังสร้างเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง
- การเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยการแปรรูป กรมการข้าวสนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวและพืชหลังนา เช่น ข้าวกล้องและข้าวสารบรรจุถุงสุญญากาศ ที่เก็บได้นานและสะดวกต่อการจำหน่าย และ ผลิตภัณฑ์จากบักวีต เช่น เส้นโซบะและชาบักวีต ซึ่งตอบโจทย์ตลาดสุขภาพ การแปรรูปช่วยเพิ่มรายได้และสร้างอัตลักษณ์ให้ชุมชน ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจผลิตภัณฑ์พื้นเมือง
“ผลลัพธ์ที่ชัดเจนในเรื่องของการผลิตข้าว เราพบว่าเกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น เกิดการปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไร่เป็นข้าวนา ทำให้เกษตรกรมีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน รวมถึงมีเหลือแบ่งให้กับญาติพี่น้องในหมู่บ้านใกล้เคียง ด้านสภาพแวดล้อมก็ช่วยลดเรื่องของการถางป่าหรือการเผาป่าทำไร่เลื่อนลอยลดน้อยลง ธรรมชาติกลับมาสมบูรณ์มากขึ้น” นายสุทธกานต์ กล่าว
หนึ่งสิ่งที่ตอกย้ำความสำเร็จของการดำเนินงานของกรมการข้าวสะท้อนผ่านคำบอกเล่าของ นายแก้ว ขาเหล็ก เกษตรกรวัย 65 ปี จากบ้านห่างทางหลวง อำเภอบ่อเกลือ ซึ่งเผยว่า ก่อนที่กรมการข้าวจะเข้ามาส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์สันป่าตอง 1 เดิมทีปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองได้ผลผลิตค่อนข้างน้อยและไม่สม่ำเสมอ แต่หลังจากเปลี่ยนมาปลูกพันธุ์สันป่าตอง 1 จากคำแนะนำของกรมการข้าว ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่ได้ประมาณ 30 กระสอบต่อไร่ ตอนนี้ได้มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อไร่ และดูแลได้ง่ายกว่าเดิมมาก เกษตรกรในหมู่บ้านก็หันมาปลูกพันธุ์นี้กันหมด
“ขอบคุณกรมการข้าวที่เข้ามาช่วยยกระดับการปลูกข้าวในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านอำเภอบ่อเกลือมีผลผลิตที่เพียงพอ อีกทั้งยังเอาเทคโนโลยีปลูกใหม่ๆ เช่น การโยนกล้า เข้ามาช่วยลดต้นทุนแรงงานและเพิ่มรายได้เกษตรกรให้มั่นคงกว่าเดิม” นายแก้ว ขาเหล็ก ทิ้งท้าย