เผยแพร่ |
---|
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘การทำนา’ ในประเทศไทยส่วนใหญ่ทำได้เพียงหนึ่งรอบต่อปี เนื่องจากต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก โดยเฉพาะบนพื้นที่สูง เกษตรกรหลายรายต้องจำใจปล่อยแปลงนาให้รกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงเสียโอกาสสร้างรายได้ อีกทั้งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในพื้น ไม่ว่าจะเป็นการชะล้างของดิน สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการสะสมของวัชพืชและศัตรูพืช ที่ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป
ดังนั้น กรมการข้าว ในฐานะหัวเรือหลักในการวิจัยและพัฒนาข้าว การส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาอย่างยั่งยืน จึงนำร่องเกษตรกรบ้านนากอก ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน หนุนส่งเสริมการปลูก ‘บักวีต’ เป็นพืชหลังนาสร้างรายได้เสริม เพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องภายในชุมชน ไม่ปล่อยให้พื้นที่นาว่างเปล่าอีกต่อไป
นายสุทธกานต์ ใจกาวิล นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กล่าวว่า ภายใต้ ‘โครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี’ ได้ส่งเสริมการปลูกพืชหลังนาในพื้นที่ ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน โดยปลูกเพื่อคัดเลือกพันธุ์บักวีต และศึกษาเทคโนโลยีการผลิตบนพื้นที่สูงในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ กองวิจัยและพัฒนาข้าว ภายใต้กรมการข้าว ตอบรับภารกิจและนำมาศึกษาวิจัยต่อ โดยพัฒนาบักวีตเป็นพืชหลังนาร่วมกับระบบข้าวตั้งแต่การปลูกในระดับแปลงนาไปจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 ผ่านการทําแปลงสาธิตและเรียนรู้ในพื้นที่ของเกษตรกร จำนวน 10 แปลง จากนั้นมุ่งขยายการผลิตเมล็ดพันธุ์ พร้อมสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่บ้านนากอกเรียนรู้การปลูกบักวีตเป็นพืชหลังนา ต่อยอดไปสู่มิติอื่นๆ ทั้งชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
“ก่อนหน้านี้ได้ทำการทดลองปลูกพืชหลังนาหลายชนิด ทั้งข้าวสาลี พืชตระกูลผัก พืชตระกูลถั่ว และบักวีต โดยบักวีตปีแรกนำมาปรับปรุงดิน พบว่าสามารถให้ผลผลิตได้ดีในพื้นที่นี้ จึงเลือกบักวีตนำมาส่งเสริมและขยายผลในพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในช่วงหลังการปลูกข้าว แม้อาจเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ยังเป็นรายได้ที่ช่วยเหลือจุนเจือให้ครอบครัวมีสภาพที่ดีขึ้นในช่วงที่ว่างจากพื้นที่นา ก็คือไม่ได้ปล่อยที่ให้รกร้าง อีกทั้งยังเป็นการช่วยรักษาสภาพแวดล้อม โดยฟางที่อยู่ในพื้นที่สามารถนำมาปกคลุมสำหรับการปลูกบักวีตได้”
นายสุทธกานต์ กล่าวอีกว่า เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวบักวีตเฉลี่ยไร่ละ 200 กิโลกรัม สามารถขายผลผลิตได้กิโลกรัมละ 50 บาท ทำให้เกษตรกรสามารถมีรายได้ในการปลูกพื้นที่ 1 ไร่ เฉลี่ยรายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้นไร่ละ 3,000-5,000 บาท นอกจากนี้ในช่วงเดือนมกราคม แปลงบักวีตออกดอกสีขาวสวยงาม สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับพื้นที่ชุมชนในตำบลภูฟ้า ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
อีกทั้งสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกษตรกรทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการผลผลิตและแปรรูปบักวีต ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เส้นโซบะ ชา และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ตลอดจนการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตรบ้านนากอก เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว
ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมและผลิตภัณฑ์การเกษตรในชุมชน ในอนาคตมุ่งขยายผลไปสู่ตลาดผู้รักสุขภาพ ถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือมากขึ้น
ด้าน นางผิน สุขเขต ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพการเกษตรบ้านนากอก เล่าว่า ในอดีตหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จ ชุมชนบ้านนากอกจะปลูกพืชสำหรับกินในครัวเรือน เช่น พริก มะเขือ หอมแดง หอมขาว ผักกาด และผักชี เป็นต้น ทว่าหลังจากที่ ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ ภายใต้กรมการข้าว ได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกบักวีตเป็นพืชหลังนา ช่วยยกระดับชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมให้บ้านนากอกมีอยู่มีกิน มีความรู้ จนพัฒนาต่อยอดมาเป็น ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพการเกษตรบ้านนากอก’ โดยมีกลุ่มสมาชิกอยู่ 16 ราย พร้อมก้าวสู่ปีที่ 7 อย่างเข้มแข็งและมั่นคง
ทั้งนี้ การปลูกบักวีตใช้ต้นทุนการผลิตน้อย ไม่มีการไถเตรียมแปลง รวมถึงช่วยจัดการฟางข้าวโดยไม่มีการเผา อีกทั้งเป็นพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ที่สำคัญสามารถปลูกได้ในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่ธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ขณะเดียวกันสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของชุมชน เนื่องจากระยะออกดอกจะมีสีขาวเป็นทุ่งสวยงาม เรียกว่าได้ว่านอกจากจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว สภาพดินก็ดีขึ้น ส่งผลให้การปลูกข้าวในรอบฤดูปลูกถัดไป มีผลผลิตเพิ่มขึ้นและคุณภาพดีขึ้นต่อเนื่อง
“ในฐานะประธานกลุ่มฯ ขอบคุณศูนย์วิจัยข้าวแพร่ และกรมการข้าว ที่นำโครงการมาสู่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้าว บักวีต องค์ความรู้เรื่องศัตรูพืช หากไม่มีศูนย์วิจัยข้าวแพร่มาให้องค์ความรู้กับชุมชน ก็ไม่รู้ได้ว่าจะมีรายได้หรือไม่ คงอาจจะเลี้ยงวัวควาย และปลูกผักกินกันเล็กๆน้อยๆ คงจะไม่มีรายได้เหมือนทุกวันนี้” นางผิน ทิ้งท้าย