‘ศูนย์วิจัยข้าวแพร่’ เผยผลสำเร็จพัฒนาด้านการพัฒนาข้าวในภาคเหนือตอนบน ยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างความมั่นคงทางอาหาร

หากกล่าวถึงประเทศไทยในสายตานานาชาติ มักถูกสะท้อนภาพด้วยประเทศที่เปี่ยมความมั่นคงในอุตสาหกรรมอาหารและสามารถตอบสนองความต้องการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเต็มไปด้วยความหลากหลายทางการเกษตร โดยเฉพาะ ‘ข้าว’ ซึ่งเป็นอาหารหลักที่มีบทบาทสำคัญทั้งในประเทศและในตลาดการส่งออกทั่วโลก จนถูกขนานนามว่าเป็นครัวของโลก ทว่าปัจจุบันการปลูกข้าวในประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะการปลูกข้าวในภาคเหนือ ที่มีข้อจำกัดทั้งลักษณะภูมิประเทศพื้นที่ราบสูง สภาพอากาศ ตลอดจนการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ

จากโจทย์ความท้าทายข้างต้น ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ ภายใต้ กรมการข้าว ในฐานะองค์กรหลักที่ผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวดีสู่ชุมชนเกษตรกร โดยรับผิดชอบงานวิจัยและพัฒนาข้าวในเขตภาคเหนือตอนบน 2 จังหวัด คือ จังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน มุ่งดำเนินพันธกิจภายใต้โครงการ ‘ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี’ เดินหน้าสนับสนุนการปลูกข้าว การใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงเป็นต้นแบบการพัฒนาที่เชื่อมโยงระหว่างการเกษตร สังคม และเศรษฐกิจอย่างสมดุล

ผลักดันการผลิตข้าวคุณภาพ

นายสุทธกานต์ ใจกาวิล นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว เผยว่า พื้นที่การดำเนินงานภายใต้โครงการศูนย์ภูฟ้าฯ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่สาธิตและทดลองของศูนย์ภูฟ้าพัฒนา จำนวน 600 ไร่ และแปลงเกษตรกร จำนวน 1,200 ไร่ในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านนากอก ห่างทางหลวง ผาสุข ห้วยล้อม สบมาง และห้วยลอย ซึ่งผลลัพธ์จากการดำเนินการ ประกอบด้วย ‘การได้พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง-เหมาะสมกับพื้นที่’ คือ ข้าวขาวภูฟ้า พันธุ์ข้าวไร่ที่เกษตรกรในพื้นที่นิยมปลูกมากที่สุด โดยให้ผลผลิตประมาณ 316 กิโลกรัม/ไร่ 

และ พันธุ์สันป่าตอง 1 เป็นพันธุ์ข้าวนาดำที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 630 กิโลกรัม/ไร่ ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิม เมื่อผนวกกับคุณสมบัติโดดเด่นของข้าวทั้งสองพันธุ์ ทั้งทนทานต่อสภาพแวดล้อมและสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงเป็นพันธุ์ข้าวคุณภาพ สามารถหุงต้มได้ดี ให้ผลผลิตสูงและเพียงพอต่อการบริโภคภายในครัวเรือน นับเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารสำหรับเกษตรกรในชุมชนอีกทางหนึ่ง

Advertisement

หลังจากทดลองจนได้สายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ผ่านการจัดตั้ง ‘ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน’ โดยมีนักวิชาการดำเนินการอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสันป่าตอง 1 และพันธุ์ข้าวขาวภูฟ้า เพื่อใช้ในพื้นที่ของเกษตรในชุมชน ตลอดจนตรวจสอบประเมินคุณภาพเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรเพื่อใช้ในการปลูกในฤดูกาลถัดไป

“ก่อนเข้ามาในพื้นที่ พบว่าเกษตรกรขาดองค์ความรู้ในเรื่องการผลิตข้าว โดยเฉพาะข้าวนาดำ ดังนั้น จึงมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งเทคโนโลยีการผลิต พันธุ์ข้าว การปลูก การดูแลรักษา การป้องกัน การกำจัดโรคแมลง เพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ในแปลงของตนเองได้ ซึ่งในฐานะนักวิจัยที่มาทำงานในพื้นที่นี้ รู้สึกภูมิใจที่เกษตรกรมีปริมาณข้าวเพิ่ม เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน ทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

Advertisement

ปลูกข้าวโยนกล้า หนุนพืชหลังนา

นายสุทธกานต์ เผยต่อไปอีกว่า กรมการข้าว ‘นำเทคโนโลยีการปลูกข้าวแบบโยนกล้าอย่างแม่นยำ’ มาแนะนำให้เกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ซึ่งวิธีนี้ทำให้ต้นกล้าข้าวมีความแข็งแรงและให้ผลผลิตที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกข้าวแบบเดิมที่ใช้แบบปักดำ ที่สำคัญช่วยย่นระยะเวลาในการปลูกข้าว เพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมถึงช่วยลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ และลดต้นทุนด้านแรงงาน

ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุน ‘การปลูกบักวีต’ เป็นพืชหลังนา เนื่องจากช่วยฟื้นฟูดินและสร้างรายได้เสริม ไม่ปล่อยให้นารกร้าง โดยนำผลผลิตจากบักวีตมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น เส้นโซบะ ชาบักวีต ฯลฯ นอกจากนี้เกษตรกรยังสามารถนำข้าวเปลือกที่เหลือจากการบริโภคมาขัดสีและกะเทาะเป็นข้าวกล้อง เพื่อนำมาวางจำหน่ายที่ร้านค้าภายในศูนย์ภูฟ้าฯ ให้กับนักท่องเที่ยว นับเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

“วิธีการปลูกข้าวแบบโยนกล้าอย่างแม่นยำ เกษตรกรสามารถวางแผนการตกกล้าข้าว โดยเริ่มจากนำเมล็ดพันธุ์ข้าวมาหยอดลงถาดโยนกล้าและกลบด้วยดิน จากนั้นทำการดูแลรดน้ำระยะเวลา 14 วัน ซึ่งวันที่ 15 ก็สามารถนำกล้าข้าวที่งอกขึ้นประมาณ 10 เซนติเมตร ไปโยนในแปลงที่เตรียมไว้ได้”

นอกเหนือจากสนับสนุนเทคโนโลยีการปลูกพืชหลังนา การต่อยอดผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมอาชีพ รวมถึงเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ยังสร้างแนวทางการจัดการเมล็ดพันธุ์อย่างยั่งยืน โดยจัดตั้ง ‘ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน’ ซึ่งเกษตรกรสามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ได้ตามต้องการ ทั้งยังสามารถจัดการ รวมถึงแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ให้กับชุมชนใกล้เคียง ทำให้การปลูกข้าวมีความต่อเนื่อง และไม่ต้องพึ่งพาการซื้อจากภายนอก

ตลอดจน ‘ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวที่เหมาะสม’ ไม่ว่าจะเป็น การปลูกข้าวไร่ ข้าวนาดำ และพืชร่วมระบบในพื้นที่ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ-สภาพดินในแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้-ทักษะในกระบวนการผลิตข้าวให้มีคุณภาพสูงขึ้น

นายสุทธกานต์ ทิ้งท้ายว่า โครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งผลิตข้าวคุณภาพสูง ทว่ายังเป็นศูนย์กลางในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมถึงพัฒนาความรู้ด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรในพื้นที่สูง ดังนั้น ก้าวต่อไปของ ‘กรมการข้าว’ ยังคงเดินหน้าสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนในระยะยาว ด้วยการแปรรูปผลผลิตการเกษตรที่มีอัตลักษณ์ ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อการบริโภค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต ควบคู่กับการฟื้นฟูพื้นป่าและสภาพแวดล้อมของชุมชนอย่างยั่งยืน