วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ “มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” บ้านวังน้ำบ่อ จ.พิษณุโลก

“มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก” อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก มีลักษณะทรงผลรียาว เปลือกสีเหลืองนวล เนื้อสีเหลืองทอง มีความเนียน ไม่มีเสี้ยน รสชาติหวาน และมีกลิ่นหอม ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะเหล่านี้ทำให้ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในปี 2565

  คุณชลธิชา ช่างประดิษฐ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มะม่วงคุณภาพ บ้านวังน้ำบ่อ
ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เผยว่าโดยปกติแล้วการปลูกมะม่วงสำหรับตลาดทั่วไปนั้นมีความเสี่ยงด้านราคาที่ผันผวน ขณะเดียวกัน ถ้าทำมะม่วงคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม ไม่ว่าจะขายในหรือต่างประเทศก็มีราคาสูง เพราะตลาดลูกค้ากลุ่มนี้มีความต้องการแล้วมีกำลังซื้อมาก ทำให้ราคาขายสูง

ภายหลังประสบความสำเร็จสามารถส่งผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้จากสวนตัวเองไปขายยังประเทศญี่ปุ่น คุณชลธิชา ชาวเนินมะปรางผู้ที่ไม่ได้เติบโตมาจากเส้นทางเกษตร แต่มีวิสัยทัศน์ยาวไกลที่ต้องการยกระดับศักยภาพของชาวบ้านของบ้านวังน้ำบ่อที่ยึดอาชีพปลูกมะม่วงอยู่แล้วให้มีมากกว่าเดิมจึงชักชวนชาวบ้านมาพัฒนาแปลงปลูกให้มีปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) พร้อมตั้งเป็น “กลุ่มมะม่วงคุณภาพบ้านวังน้ำบ่อ” หวังสร้างมูลค่ามะม่วงให้เป็นเกรดพรีเมี่ยม มีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ แล้วขายได้ในราคาสูง 

นับเป็นความสำเร็จโดยเป็นสวนมะม่วงน้ำดอกไม้แห่งแรกในพื้นที่ที่สามารถผลิตมะม่วงคุณภาพได้มาตรฐานเกรดพรีเมียมส่งขายต่างประเทศ จากนั้นชาวบ้านในพื้นที่มีความสนใจและตื่นตัวหันมาปรับปรุงสวนมะม่วงให้มีคุณภาพเพื่อส่งออกกันหลายราย 

อย่างไรก็ตาม คุณชลธิชา เผยว่า ถึงแม้ทางกลุ่มสามารถผลิตมะม่วงตามเกณฑ์จนได้รับรองมาตรฐานการปลูกแบบ GAP แล้วก็ตาม แต่การส่งขายตลาดต่างประเทศ และห้างสรรพสินค้าควรได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดี (Good Manufacturing Practices : GMP) ด้วย เพื่อเป็นที่เชื่อถือยอมรับจากผู้บริโภคในระดับสากล 

Advertisement

โดยแต่เดิมนั้นทางกลุ่มมีความคิดจะทำการคัดแยกในบริเวณใต้ถุนบ้านของประธานกลุ่มฯ แต่พบปัญหาแมลงวันทองเจาะผลมะม่วง ทำให้ผลผลิตเสียหาย ดังนั้น จึงได้ประสานติดต่อสอบถามและได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาตรวจประเมินและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมีหน่วยงานในระดับพื้นที่ให้คำปรึกษาและช่วยแก้ไขปัญหาในรูปแบบให้กลุ่มฯ เช่าพื้นที่กรมป้าไม้จนกว่าพื้นที่ก่อสร้างโรงคัดจะได้รับเอกสารสิทธิ์ หรือใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ภายใต้โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.)

Advertisement

จากมาตรฐาน GAP สู่ GMP
ยกระดับผลิตภัณฑ์ เพิ่มโอกาสการส่งออก

ในปี 2566 ประเทศไทยมีผลผลิตมะม่วงเชิงพาณิชย์รวม 1.34 ล้านตัน แบ่งเป็นภาคเหนือ ร้อยละ 50 ภาคกลาง ร้อยละ 35 และภาคตะวันออก ร้อยละ 15 ซึ่งผลผลิตดังกล่าวทั้งบริโภคในประเทศและส่งออกทั่วโลก โดยจากสถิติการส่งออกในปี 2566 มะม่วงมีการส่งออกทั่วโลกมากถึง 112,047 เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 3,236.16 ล้านบาท มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 219.92 ล้านบาท (3,016.24 ล้านบาท) โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย ฮ่องกง เวียดนาม สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และยุโรป

GMP คืออะไร?

หลังจากที่เกษตรกรได้ผลผลิตจากแปลงที่ได้มาตรฐาน GAP จะถูกนำเข้าสู่โรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการผลิตหลังการเก็บเกี่ยว และเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค 

มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สด (มกษ. 9047 – 2560) (Good Manufacturing Practices : GMP)

  • ครอบคลุมใน โรงงาน หรือ สถานที่แปรรูป ที่มีการจัดการด้านสุขลักษณะ 
  • มุ่งเน้นที่ กระบวนการผลิตหลังเก็บเกี่ยว ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ การจัดเตรียม การคัดเลือก การบรรจุ และการเก็บรักษา ซึ่งอาจรวมถึงการขนส่ง เพื่อให้มั่นใจว่าอาหารที่ผลิตมีความปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อน และเหมาะสมสำหรับการบริโภค

โดยมีความครอบคลุมดังนี้ 

  1. สถานประกอบการ (สถานที่ตั้ง, การออกแบบอาคาร, เครื่องมือเครื่องจักร สิ่งอำนวยความสะดวก)
  2. การควบคุมการปฏิบัติงาน 
  3. การบำรุงรักษาและการสุขาภิบาล 
  4. สุขลักษณะส่วนบุคคลของพนักงาน (เช่น การล้างมือ, การใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม)
  5. การจัดเก็บและขนส่งสินค้า
  6. เอกสารและบันทึกข้อมูล

การพัฒนาสถานประกอบการให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน จะสามารถเพิ่มมูลค่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายได้ ทั้งในและต่างประเทศ โดยกลุ่มเกษตรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถช่วยแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรได้อย่างมั่นคง และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้การพัฒนาและส่งเสริมมาตรฐานให้กลุ่มเกษตรกรดังกล่าว เป็นกลไกหนึ่งในการยกระดับภาคผลิตของประเทศไทยให้ได้รับความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและระดับสากล 

ทั้งนี้การได้รับการรรับรองตามมาตรฐานดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาคเอกชน ห้างร้าน โมเดิร์นเทรดที่มีผู้บริโภคเป็นผู้ใส่ใจด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรมีช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้ามะม่วงที่มีคุณภาพ ไปถึงมือผู้บริโภคได้มากขึ้น และยังส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ มีความความสนใจที่จะผลิตมะม่วงที่ดี มีคุณภาพ เป็นกลไกหนึ่งในการผลักดันให้ห่วงโซ่ด้านมาตรฐานได้มีการขับเคลื่อนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก อันจะนำไปสู่การพัฒนากลุ่มเกษตรกรในพื้นที่มีความสามารถในการสร้างรายได้ และพึ่งพาตนเองได้

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เห็นถึงความสำคัญในการผลิตมะม่วง เพื่อให้ได้คุณภาพมาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต และเป็นกลไกการขับเคลื่อนการมาตรฐาน จึงได้ดำเนินโครงการยกระดับและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐาน GMP ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ให้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการ ที่ปรึกษาเกษตรกร 

ปัจจุบันโรงคัดบรรจุมะม่วงวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มะม่วงคุณภาพบ้านวังน้ำบ่อ จังหวัดพิษณุโลก ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สด (มกษ.9047-2560)