สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง นำ QR code และนวัตกรรมนาโนซิงค์ออกไซค์ สนับสนุนงานส่งเสริมการเกษตร

นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า
จากสถานการณ์การส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสาร ที่ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ ได้ง่ายมากขึ้น ตลอดถึงการบริหารงานที่เน้นการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมีนโยบายการทำงานที่เน้นพื้นที่และการเข้าถึงการมีส่วนร่วม ของเกษตรกรและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะศูนย์ปฏิบัติการจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานนโยบายลงสู่พื้นที่และเป็นหน่วยงานสำคัญ อีกหน่วยงานหนึ่งที่มีผลต่อความสำเร็จของงานโครงการต่างๆ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้ทางวิชาการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร รวมถึงการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โดยตรง

อีกทั้งยังให้บริการด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้องได้อย่างครอบคลุมเป็นแหล่งพัฒนาอาชีพทางการเกษตร ที่สามารถประยุกต์และพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรภายใต้ความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และภูมิอากาศในแต่ละท้องถิ่นมาปฏิบัติใช้ได้ รวมทั้งการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรเครือข่าย ให้สามารถนำความรู้ไปสู่เกษตรกรให้มีการผลิตโดยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ มีความมั่นคงทางอาชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการส่งเสริมการเกษตรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรกรรมยั่งยืน

สำหรับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรานั้น เป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ตั้งอยู่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่รับผิดชอบใน 3 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดนครนายก มีภารกิจในการถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรให้กับเกษตรกร หรือผู้สนใจ จำนวน 7 จุดเรียนรู้ ได้แก่ การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ การปลูกผักไม่ใช้ดิน การจัดการระบบการให้น้ำ (Smart Kit) การปลูกบอนสี การปลูกบัวประดับ แปลงรวบรวมพันธุ์มะม่วง แปลงการปลูกเพกาต้นเตี้ยในที่ดอน เป็นต้น

“ปัจจุบัน ในศูนย์ได้มีการรวบรวมพันธุ์มะนาวหลายสายพันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรที่เข้ามาเรียนรู้สามารถเปรียบเทียบได้ว่าแต่ละพันธุ์มีลักษณะและความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง โดยในแปลงปลูกต้นมะมาวจะมีคิวอาร์โค้ด (QR code) คุณลักษณะของแต่ละสายพันธุ์ที่เกษตรกรสามารถเรียนรู้ได้เลย ถึงแม้ว่าเวลาเดินทางเข้ามาไม่พบกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ตาม นอกจากนี้ ยังจัดให้เกษตรกรที่เข้ามาเรียนรู้ได้ฝึกปฏิบัติ มีการสาธิตแนะนำถึงขั้นตอนและวิธีการในการเสียบยอดมะนาวโดยใช้ต้นตอจากต้นส้มโอ ซึ่งจะช่วยให้การหาอาหารและการเจริญเติบโตของมะนาวดีกว่าต้นตอของมะนาวเอง และสามารถนำไปปฏิบัติต่อที่บ้านของตนเองได้เลย ปี 2562 นี้ทางอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายสำราญ สาราบรรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดขยายผลสำเร็จในการนำเทคโนโลยีที่สนับสนุนการเพาะปลูกสู่เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้นำมาปฏิบัติโดยการนำ คิวอาร์โค้ด (QR code) และนวัตกรรมนาโนซิงค์ออกไซค์มาสนับสนุนงานด้านการส่งเสริมการเกษตรให้กับเกษตรกรในพื้นที่” ผอ. สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าว

ทางด้าน นายสมชาย ปิยะวาจานุสรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ทางศูนย์มีเป้าหมายที่จะขยายผลที่ประสบความสำเร็จแล้วไปสู่เกษตรกรให้เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันก็มีไม่น้อยกว่า 100 ราย จาก 43 หมู่บ้าน บริเวณพื้นที่รอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา

“การเข้ามาเยี่ยมชมกิจกรรมภายในศูนย์เกษตรกรและประชาชนทั่วไปสามารถเดินทางเข้ามาได้ ทั้งแบบหมู่คณะและแบบตัวบุคคล ทางศูนย์จะจัดเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลและการแนะนำตลอดถึงการฝึกปฏิบัติให้ แม้จะเข้ามาเพียงคนเดียวทางเจ้าหน้าที่ก็ยินดีให้บริการ” นายสมชาย กล่าว

ทั้งนี้ จากการดำเนินการถ่ายทอดความรู้ในปีงบประมาณ 2561 ถึงเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา มีผู้เข้ามาศึกษาดูงานภายในศูนย์ จำนวน 8,629 ราย สำหรับการปลูกมะนาวเป็นอีกหนึ่งจุดการเรียนรู้ที่มีผู้ให้ความสนใจมาศึกษาและฝึกปฏิบัติ โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทราได้มีการนำ คิวอาร์โค้ด (QR code) มาใช้ในจุดเรียนรู้นี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปที่เข้ามาศึกษาดูงานในจุดเรียนรู้ ให้สามารถนำโทรศัพท์มือถือสแกน คิวอาร์โค้ด (QR code) แล้วอ่านข้อมูลที่ต้นมะนาวได้เลย

นอกจากนั้น ยังได้นำนวัตกรรมนาโนซิงค์ออกไซค์ (Zno) มาใช้เพื่อป้องกันโรคระบาด โดยมีคุณสมบัติสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุของโรคแคงเกอร์ ซึ่งเป็นโรคที่สำคัญของมะนาวได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงและมีความปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งภายในจุดเรียนรู้การปลูกมะนาวจะมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทราคอยให้คำแนะนำถึงวิธีการปลูก การดูแลรักษาอย่างถูกวิธี และการฝึกปฏิบัติในการขยายพันธุ์มะนาวด้วยการเสียบยอด เป็นต้น

สำหรับผู้สนใจต้องการเข้าไปศึกษาดูงานฐานการเรียนรู้ต่างๆ สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร 082-716-7965 ในวันและเวลาราชการ