สสส. และ เลมอนฟาร์ม เดินหน้าขยายเกษตรอินทรีย์ต้นแบบในสุพรรณบุรี

สสส. และ เลมอนฟาร์ม  เดินหน้าขยายเกษตรอินทรีย์ต้นแบบในสุพรรณบุรี เพื่อสร้างสุขภาพและพาลูกกลับบ้าน ขับเคลื่อนโดยใช้ตลาดนำผลิต และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ PGS

วันที่ 2  มีนาคม 2562  สสส. และ เลมอนฟาร์ม ร่วมหนุนเกษตรกรรายย่อยในการขยายเกษตรอินทรีย์ สร้างอาหารสะอาดในพื้นที่ เพื่อสร้างสุขภาพดี และสร้างต้นแบบเพื่อเป็นที่เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ให้แก่เกษตกรรายย่อยใน อ.อู่ทอง และ อ.ด่านช้าง ให้สามารถเข้าสู่การผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ โดยใช้มาตรฐาน Lemon Farm Organic PGS ได้เกิดรูปธรรมการเปลี่ยนแปลง พบว่า เกษตรอินทรีย์สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการปลูกข้าวที่ประสบภาวะภัยแล้ง สร้างรายได้ที่ดีบนฐานเกษตรอินทรีย์ที่หลากหลายให้แก่เกษตรกรเดิมและเกษตรกรรุ่นใหม่ และสร้างการผลิตที่ไม่ทำร้ายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

โดยในวันนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งทองยั่งยืน หนึ่งในเกษตรกรต้นแบบ ได้จัดพิธีปฏิญญาเกษตรอินทรีย์ เพื่อแสดงเจตจำนงและความมุ่งมั่นในการทำเกษตรอินทรีย์อย่างซื่อตรง ในการสร้างอาหารเกษตรอินทรีย์ที่สะอาดจากสารเคมีอันตรายให้แก่ผู้บริโภค และร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่ชุมชนและท้องถิ่น  ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกเกษตรอินทรีย์ 31 ครอบครัว พื้นที่อินทรีย์ 247 ไร่

นางสุวรรณา หลั่งน้ำสังข์  กรรมการผู้จัดการ เลมอนฟาร์ม  ให้รายละเอียดงานว่า การพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ PGS ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินการโดยเลมอนฟาร์ม ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ Lemon Farm Organic PGS Model เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและดำเนินการตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสร้างกระบวนการสุขภาพดี แก้ NCDs  โดยใช้อาหารเกษตรอินทรีย์ และช่วยสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย

โดยเริ่มต้นในปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ดำเนินการใน อ.อู่ทอง และ อ.ด่านช้าง ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งทองยั่งยืน มีสมาชิกเกษตรกรอินทรีย์ 31 ราย พื้นที่อินทรีย์ 247 ไร่ และกลุ่มรักษ์ด่านช้าง สมาชิก 6 ราย พื้นที่อินทรีย์ 30 ไร่

การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ Lemon Farm Organic PGS Model มีหลักการที่สำคัญคือ การดำเนินการส่งเสริมตลาดห่วงโซ่, การใช้ตลาดนำการผลิต, การเติมองค์ความรู้การผลิตบนมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ PGS, การจัดการผลผลิต และสร้างความเข้มแข็งของระบบกลุ่ม เพื่อให้การทำเกษตรอินทรีย์ทำได้ยั่งยืนต่อเนื่อง โดยกลุ่มที่สำเร็จจะมีลักษณะที่สำคัญคือ การมีผู้นำที่เสียสละ และกลุ่มที่เข้มแข็งจริงจังบนวิถีเกษตรอินทรีย์และมุ่งสู่วิถียั่งยืน

 

Advertisement

การดำเนินการดังกล่าว มีความก้าวหน้า สามารถสร้างรายได้ให้แก่กลุ่ม รวมแล้วปีละกว่า 5.5 ล้านบาท  และทำให้เกิดการสร้างอาหารอินทรีย์หลากหลาย ได้แก่ ข้าว, ผัก, ผลไม้, ขนมไทยอินทรีย์ แก่ผู้บริโภค ทั้งในเมืองและในท้องถิ่น และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มั่นคงแก่เกษตรกรในด้านการเลี้ยงชีพที่มีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น ลดความเสี่ยง

โดยเฉพาะเกษตรกรนาข้าวที่เผชิญภาวะภัยแล้ง ซึ่งทำให้ผลิตข้าวได้ลดลง เหลือเพียง 1-2 รอบ ต่อปี จากเดิมที่เคยทำนาได้ 3 รอบ ต่อปี เมื่อเกษตรกรปรับเปลี่ยนที่นาเป็นอินทรีย์ และเปลี่ยนที่นาเป็นสวนผักผลไม้อินทรีย์ ทำให้สุขภาพดีขึ้นอย่างชัดเจน มีรายได้มั่นคงและมีอาหารกิน ลดการซื้อภายนอกตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ลดหนี้ได้ ทั้งเพิ่มความเข้มแข็งของกลุ่มและชุมชน และสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น

Advertisement

อีกส่วนที่สำคัญคือ การสร้างพื้นที่งานและอาชีพให้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่ เข้าสู่ภาคการเกษตรแบบมีอนาคต และสามารถกลับไปพัฒนาบ้านเกิดได้ เกษตรกรหลายรายสามารถชักชวนลูกชาย ลูกสาว กลับบ้านได้ เป็นกำลังสำคัญและเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ให้แก่ประเทศ บนวิถีเกษตรอินทรีย์

สสส. และ เลมอนฟาร์ม  มีเป้าหมายขยายการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ใน อ.อู่ทอง อ.ด่านช้าง ในจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพและเป็นเครื่องมือช่วยเกษตรกรรายย่อยให้มั่นคงขึ้น ปัจจุบัน เลมอนฟาร์มดำเนินการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน PGS ใน 14 กลุ่ม พื้นที่ 3,000 ไร่