เกษตร เขต 3 ระยอง ใช้ Training and visit system สร้างความมั่นคงด้านการผลิตภาคเกษตร

ตรวจเยี่ยมพื้นที่เกษตรกรในโครงการของจังหวัดปราจีนบุรี

“ขณะนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้วางระบบการส่งเสริมการเกษตรโดยใช้ระบบ Training and visit system (T&V System) หรือการฝึกอบรมและเยี่ยมเยียนโดยมีทั้งหมด 5 แนวทางในการดำเนินการ  คือ 1 เรื่องของการฝึกอบรม โดยจะมีการฝึกอบรมทั้งตัวของเจ้าหน้าที่ไปจนถึงเกษตรกร หลังจากฝึกอบรมให้ความรู้แล้ว ก็เข้าสู่แนวทางที่ 2 คือการเยี่ยมเยียนของเจ้าหน้าที่ต่อเกษตรกร ซึ่งเมื่อเกษตรกรผ่านการอบรมในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตรแล้วเจ้าหน้าที่ก็ต้องเดินทางไปเยี่ยม เพื่อติดตามว่าเกษตรกรเป็นอย่างไรบ้างหลังจากอบรมแล้ว ความรู้ที่ได้รับนำกลับไปใช้หรือติดขัดในปัญหาอะไรบ้าง และแนวทางที่ 3 คือระบบการส่งเสริมสนับสนุน ทั้งนี้เนื่องจากการสนับสนุนแต่ละหน่วยแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน  จะต้องมีการศึกษาและเรียนรู้ถึงความเหมาะสมในการสนับสนุน โดยเฉพาะเรื่องวัสดุอุปกรณ์ ตลอดถึงความรู้ต่างๆ”

นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง

“ส่วนแนวทางที่ 4 คือเรื่องของข้อมูล ที่จะต้องมีข้อมูลในการบริหารจัดการ นับตั้งแต่ข้อมูลระดับพื้นที่ไปจนถึงข้อมูลจากส่วนกลาง ก็จะเป็นตัวสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สามารถนำไปวางแผนได้โดยทุกส่วนสามารถเข้ามาค้นคว้าได้ และแนวทางที่ 5 คือ เรื่องของการนิเทศงาน ที่จะดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทาง วิธีการในการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ”

นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวระหว่างการจัดโครงการนิเทศงานตามระบบส่งเสริมการเกษตร ครั้งที่ 1/2562 ของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรส่วนกลางและสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวอีกว่า Training and visit system (T&V System) เป็นระบบการส่งเสริมการเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ได้นำมาใช้ ในทางปฎิบัติก็คือจะมีการประชุมติดตามงานทุกวันจันทร์เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีการพูดคุยกันก่อนการออกปฏิบัติงาน มีการทำแผน มีการทำผลในการปฏิบัติงานทุกเดือน วันอังคารทำงานกันตามปกติ วันพุธติดตามงานนโยบายกรมส่งเสริมการเกษตร วันพฤหัสบดีออกพื้นที่ดูแลเกษตรกรตามนโยบายของกระทรวง วันศุกร์เป็นวันสำรองเพื่อยืดหยุ่นหากมีปัญหาเรื่องงานของส่วนไหนก็ใช้วันนี้เข้ามาทำ เป็นต้น  ซึ่งการวางอย่างนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

นายยศพนธ์ ทัพพระจันทร์ เกษตรจังหวัดปราจีนบุรี

ด้าน นายยศพนธ์ ทัพพระจันทร์ เกษตรจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในส่วนของจังหวัดปราจีนบุรีมีพื้นที่ทางการเกษตร 800,000 กว่าไร่ ส่วนใหญ่เป็นนาข้าวมีการปลูกข้าวครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 400,000 กว่าไร่ มีพืชไร่ประมาณ 200,000 ไร่ นอกนั้นก็เป็นไม้ผลประมาณ 100,000 กว่าไร่ มีทั้งหมด 7 อำเภอ 64 ตำบล 708 หมู่บ้าน มีเจ้าหน้าที่นักส่งเสริมประจำตำบลครบทุกตำบล

สำหรับโครงการที่สำคัญของจังหวัดปราจีนบุรีในขณะนี้ เกษตรจังหวัดได้เน้นในการดำเนินการเรื่องแปลงใหญ่ ซึ่งในจังหวัดปราจีนบุรีมีตั้งแต่แปลงใหญ่ข้าว แปลงใหญ่ไม้ผล เช่น ส้มโอ ทุเรียน แปลงใหญ่ประเภทสัตว์ เช่น โคเนื้อ แปลงใหญ่ประมง ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 43 แปลง และการขับเคลื่อนโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เพื่อลดพื้นที่การทำนาเพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 226 ราย พื้นที่ 2,680 ไร่ ซึ่งทุกแปลงจะเน้นตลาดนำการผลิต

โครงการนิเทศงานตามระบบส่งเสริมการเกษตร ครั้งที่ 1/2562 ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี

“ในปี 2562 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรมีโครงการขยายผลโครงการพระราชดำริ โดยคัดเลือกเกษตรกรต้นแบบอำเภอละ 1 ราย ที่ถือเป็นไข่แดง จากนั้นจะมีการขยายผลให้เป็นไข่ขาว คือให้เป็นเครือข่ายอีก 10 ราย ต่อ 1 อำเภอ ปีต่อไปก็คัดเพิ่มเป็นอำเภอละ 2 ราย แล้วขยายผลออกไปอีก คาดว่าประมาณ ปี 2564  จะมีเกษตรกรต้นแบบในทุกตำบล และการนำแนวทาง  Training and visit system มาใช้ จะช่วยให้การดำเนินงานตามโครงการเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและผลออกมาได้ตามเป้าหมาย  เนื่องจากทั้งเกษตรกรและเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะนักส่งเสริมการเกษตรได้ทำงานอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดวันและเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินงาน หากมีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ก็สามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ความเสียหายในการทำการผลิตของเกษตรกรก็จะลดลง” เกษตรจังหวัดปราจีนบุรี กล่าว

ขณะที่นางพัชรินทร์  ศรีทอง  เกษตรกรหมู่ที่ 5 ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการที่สนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรในโครงการสานพลังประชารัฐปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา กล่าวเสริมว่า ตนเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดปีนี้เป็นปีแรก  โดยได้รับการแนะนำและส่งเสริมจากสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองปราจีนบุรี  มีความสนใจจึงเข้าร่วมโครงการ

ตรวจเยี่ยมพื้นที่เกษตรกรรมในโครงการของจังหวัดปราจีนบุรี

“รู้สึกดีและมั่นใจในโครงการนี้ว่าต้องประสบความสำเร็จเพราะตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจะมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาให้คำแนะนำในการเพาะปลูกตลอดเวลา ตั้งแต่การเตรียมดิน  การกำจัดวัชพืช  การลงเมล็ด  และการให้น้ำ และตอนนี้ก็ได้ติดต่อกับทางสหกรณ์ซึ่งเป็นผู้ซื้อผลผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้วตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาแนะนำ ก็มั่นใจว่าปีนี้ผลผลิตข้าวโพดที่ได้คงจะทำกำไรได้มากพอควร” นางพัชรินทร์ กล่าว

สำหรับแนวทางในการดำเนินงานเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในลักษณะเช่นนี้ก็คือแนวทาง Training and visit system นั้นเอง ซึ่งนับเป็นแนวทางของการส่งเสริมสนับสนุนงานด้านการเกษตรอย่างมีทิศทางและมีระบบที่สามารถลดความเสียหายในด้านต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม