รวมพลังไม่ซื้อไม่ขายสินค้าเกษตรด้อยคุณภาพภาคตะวันออก

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) รวมพลังไม่ซื้อไม่ขายสินค้าเกษตรด้อยคุณภาพภาคตะวันออก และงานประชาสัมพันธ์ผลไม้คุณภาพดีเอกลักษณ์ภาคตะวันออก ปี 2562 ณ จังหวัดจันทบุรี ว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2562 เป็นแห่งการผลิตผลไม้คุณภาพ ใช้การตลาดนำการผลิต

พร้อมประกาศคุมเข้มทุเรียนโดยมุ่งเน้นการวางแผนแบบครบวงจร จึงได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแผงค้าริมทางตลาดเนินสูง เพื่อพบปะเกษตรกรที่ได้นำผลผลิตมาจำหน่าย อีกทั้งยังได้เป็นสักขีพยานในการลงนามรวมพลังไม่ซื้อไม่ขายสินค้าเกษตรด้อยคุณภาพภาคตะวันออกที่ทาง จ.จันทบุรี จัดขึ้น จำนวน 3 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 เกษตรกร ผู้ประกอบการส่งออก ร้านค้าปลีก ผู้นำท้องถิ่น/ท้องที่ ชุดที่ 2 เกษตรกรแปลงใหญ่ กับ Modern Trade (Tops) และชุดที่ 3 ผู้แทนเครือข่ายสหกรณ์ในจันทบุรี กับ Modern Trade (Makro) นอกจากนี้ ยังได้เป็นสักขีพยานการลงนามของ จ.ตราด และ จ.ระยอง ด้วย

นากกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ มุ่งดำเนินการตามแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2562 ให้มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการผลผลิตให้มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน มีการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้มีอำนาจการต่อรองที่เพิ่มขึ้น และมีการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนหรือเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการทำเกษตร

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตผลไม้ในภาคตะวันออกปี 2562 จะมีผลผลิตรวม ทั้ง 4 ชนิด ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ประมาณ 911,434 ตัน โดยผลผลิตจะออกมากช่วงกลางเดือนเมษายน ต่อเนื่องถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งผลผลิตภาพรวมของทั้ง 4 ชนิดจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาทุกชนิด คือ ทุเรียน จำนวน 511,872 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 403,906 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.73 เงาะ จำนวน 194,513 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 173,224 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.29 มังคุด จำนวน 181,390 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 73,576 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 146.53 และลองกอง จำนวน 23,659 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 16,319 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.98

ส่วนผลไม้ภาคเหนือ คือ ลิ้นจี่ จำนวน 41,473 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 41,220 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.61 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่เกิดภาวะแล้ง ปีนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ต้นไม้ผลมีเวลาพักสะสมอาหารนาน ผลผลิตจะออกมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงได้กำชับให้มีการคัดคุณภาพและบรรจุสินค้าผลไม้ 4 สินค้า ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลำไย ส่งให้กับผู้ประกอบการเอกชนในปริมาณรวมไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 300 ล้านบาท และยังเชิญชวนให้บริโภคผลไม้ไทยมากยิ่งขึ้นด้วย