วช. เดินหน้าพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ในชุมชนสีเขียว

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น โครงการสื่อมวลชนสัญจร ประจำปี 2562 ครั้งที่ 4 “เรื่อง การพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ ในชุมชนสีเขียว” ในจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน เพื่อเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่สาธารณชนได้รับทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ รองประธานคณะกรรมการกำกับโครงการวิจัยท้าทาย วช. กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน แต่ที่ผ่านมาเป็นการวิจัยขนาดเล็กขาดการบูรณาการ จึงทำให้ไม่สามารถนำไปแก้ไขปัญหาในเรื่องการใช้พลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น วช. จึงได้เริ่มโครงการวิจัยขนาดใหญ่แบบบูรณาการ ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และบูรณาการองค์ความรู้จากสหสาขาวิชาการต่าง ๆ

ศาสตราจารย์ ดร. ทนงเกียรติ  เกียรติศิริโรจน์

โดยมีเป้าหมายให้ได้ผลงานวิจัยที่สำเร็จพร้อมประยุกต์ใช้งานได้จริง ภายใต้แผนงานวิจัยตอบสนองต่อนโยบายและเป้าหมายรัฐบาล โครงการวิจัยท้าทายไทย ในหัวข้อ การพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ ในชุมชนสีเขียว ปัจจุบัน เป็นปีที่ 2 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ ร่วมกันวิจัย เพื่อนำองค์ความรู้ และเทคโนโลยี จากการวิจัยด้านพลังงานไปใช้ในชุมชน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนสีเขียว อันเป็นแนวทางในการสร้างงานสร้างคนในชุมชน เพื่อให้ประชาชนกลับคืนสู่ท้องถิ่นต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร. ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการ “การพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ ในชุมชนสีเขียว” กล่าวว่า การดำเนินงานของโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย ภายใต้โครงการการพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ในชุมชนสีเขียว มีทั้งหมด 8 โครงการ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ และพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิง เพื่อผลิตไฟฟ้า แสงสว่าง และความร้อน และการนำชีวมวลและของเสียเหลือทิ้งมาผลิตเชื้อเพลิงในรูปเชื้อเพลิงของแข็ง น้ำมันชีวภาพ หรือก๊าซเชื้อเพลิง รวมถึงการพัฒนาก๊าซชีวภาพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า และความร้อน การพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้า จากชีวมวล การพัฒนากังหันลม การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบอื่นๆ การพัฒนาระบบควบคุม เพื่อให้เกิดการจัดการระบบพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาวัสดุพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดการใช้พลังงาน

ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาโครงการต้นแบบเพื่อไปประยุกต์ใช้ ในชุมชน ให้เข้าสู่การเป็นชุมชนสีเขียว เช่น โครงการชุมชนต้นแบบเลี้ยงปลาอัจฉริยะสีเขียว เพื่อลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล กรณีศึกษาชุมชนบ้านทุ่งยาว อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีการประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ปลานิลและปลาดุก ซึ่งมักเกิดปัญหาปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำน้อยกว่าความต้องการของปลา ทำให้ปลาตายหรือปลาน็อคน้ำ นักวิจัยจึงได้ใช้เทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar PV (Solar photovoltaic) มาใช้ในระบบเติมอากาศ และพัฒนาการเลี้ยงปลา โดยระบบอัจฉริยะ รวมถึงศึกษาการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลมาใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลในเครื่องสูบน้ำของบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งขณะนี้ได้มีการขยายผลใช้งานแก่เกษตรกรในชุมชนดังกล่าว จำนวน 7 ราย