ซีพีเอฟ ร่วมกับกลุ่ม SeaBOS ประกาศเจตนารมณ์สร้างอุตสาหกรรมอาหารทะเลโปร่งใส และยั่งยืน

23 เม.ย. 2562 – บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารทะเลจากทั่วโลก ในกลุ่ม Seafood Business for Ocean Stewardship (SeaBOS) กลุ่มความร่วมมือสากลในการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ประกาศเจตนารมณ์พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างยั่งยืน บนบรรทัดฐานเดียวกัน รวมถึงนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าอาหารทะเลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และป้องกันปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย

การแถลงร่วมกันของสองกลุ่มความร่วมมือด้านความยั่งยืนทางทะเลระดับโลก ได้แก่ SeaBOS และ Global Dialogue on Seafood Traceability (GDST) ซึ่งมีสมาชิกรวมกันกว่า 60 บริษัททั่วโลก ในงาน Seafood Exhibition of North America (SENA) ณ เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา มีจุดประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานความยั่งยืนใหม่ให้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเลโลก ด้วยระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ทันสมัย สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าสินค้าอาหารทะเลที่รับประทานนั้น มาจากการผลิตที่มีคุณภาพ มีความอย่างยั่งยืน ตลอดจนคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน โดยมีขอบข่ายความร่วมมือ      ดังนี้

• การสร้างเป้าหมายที่เห็นชอบร่วมกัน ในชนิดและคุณภาพของข้อมูล เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมอาหารทะเล

• การส่งเสริมให้เกิดความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการร้องขอข้อมูลประกอบการซื้อขายสินค้า ในแง่มุมการตรวจสอบย้อนกลับอาหารทะเล ทั้งในอุตสาหกรรมประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วโลก

• การสร้างกลไกการตลาด เพื่อส่งเสริมการซื้อขายและการเข้าถึงสินค้าอาหารทะเลที่เท่าเทียมกัน ระหว่างผู้ผลิตขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ในทุกๆ ประเทศทั่วโลก

• การสร้างมาตรฐานเชิงเทคนิค เพื่อการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านช่องทางดิจิตอล ระหว่างบริษัทและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลก

• การพัฒนารากฐานการปฏิบัติ สำหรับการออกกฎระเบียบ/กฏหมาย ที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับหน่วยงานภาครัฐในแต่ละประเทศ ต่อผู้ผลิตและผู้แปรรูปสินค้า

.สพ. สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัท ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างรับผิดชอบ รวมถึงการจัดหาปลาป่นที่มาจากการประมงที่สอดคล้องตามกฎหมาย มีการควบคุมและรายงานอย่างเคร่งครัด (Non-IUU Fishing) โดยร่วมกับกลุ่มความร่วมมือทั้งระดับประเทศและนานาชาติ เช่น คณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย (TSFR) Seafood Task Force ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงจังหวัดสงขลา องค์กรสากลด้านมาตรฐานความยั่งยืนของอาหารทะเล (GSSI) และ Seafood Business for Ocean Stewardship (SeaBOS)

ทั้งนี้ SeaBOS เป็นโครงการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยสต๊อคโฮม ประเทศสวีเดน และกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทะเลรายใหญ่ของโลกหลายราย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่โปร่งใส ยั่งยืน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก หรือ UNSDGs ข้อ 14 : การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล โดยสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ SeaBOS เพิ่มเติมได้ที่ http://keystonedialogues.earthและ https://traceability-dialogue.org/gdst-news/