กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือ ม.นราธิวาส วางเป้าพัฒนาการเกษตรในพื้นที่

กรมส่งเสริมการเกษตร ลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องการพัฒนาวิชาการด้านการวิจัยและการส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมวางแผนพัฒนา 5 ด้านสำคัญ การพัฒนาเยาวชนเกษตร การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัยและการผลิตพืช การจัดการโรคและแมลงศัตรูพืช การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ และการพัฒนาบุคลากร

นายสำราญ  สาราบรรณ์  อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวหลังจากการลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องการพัฒนาวิชาการด้านการวิจัยและการส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ความสำคัญในการนำงานวิจัยไปปฏิบัติมาโดยตลอด จำเป็นต้องมีหน่วยงานสนับสนุนและเกื้อกูลกัน ทั้งนี้กรมฯ วางระบบงานส่งเสริมการเกษตร T & V system (Training and visit System) เป็นระบบฝึกอบรมและเยี่ยมเยียน ที่ได้มีการนำมาปรับปรุงมุ่งให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ทุกระดับทั่วประเทศ ซึ่งการนำงานวิจัยมาช่วย จะทำให้สามารถปรับปรุงและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพในด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม ทั้งการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วทันสถานการณ์และบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบโจทย์การทำงานด้านการเกษตร ได้รวดเร็วรองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0

ผศ.ดร. รสสุคนธ์  แสงมณี อธิบการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ทั้งสองฝ่ายได้วางเป้าหมายและข้อตกลงที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาทางวิชาการส่งเสริมการเกษตร วิชาการเกษตร เคหกิจเกษตร วิศวกรรมเกษตร เศรษฐศาสตร์เกษตร เยาวชนเกษตร เกษตรกรรุ่นใหม่ Smart Farmer เศรษฐกิจพอเพียง การจัดการข้อมูลทางด้านการเกษตรให้เป็นระบบเพื่อถ่ายทอดสู่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และเผยแพร่สู่ชุมชน และงานวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดย ทั้ง 2 ฝ่าย จะสนับสนุนทรัพยากรบุคลากร และงบประมาณในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดย ส่วนของมหาวิทยาลัย มีหน้าที่ สนับสนุนความรู้ ทางวิชาการ ให้เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อถ่ายทอดความรู้ไปยังเกษตรกร

ด้าน นายสุพิศ  จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่ 5 ได้กล่าวถึงการจัดงานว่า บันทึกลงนามนี้ จะเป็นบันทึกความตกลงนี้จะเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะสามารถพัฒนางานในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะ พื้นที่ 3 จังหวัด เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ได้ ซึ่งเป้าหมายที่วางไว้ 5 ประเด็น ได้แก่ ประเด็น การพัฒนาเยาวชนเกษตร ประเด็น การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัยและการผลิตพืช การจัดการด้านโรคและแมลงศัตรูพืช การจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการเกษตร และการพัฒฒนาบุคลากร  ซึ่งได้วางแผนงานอย่างเป็นระบบนำงานวิจัย มาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ จะได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดนวิเคราะห์และวางแผนการทำงานร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องเกษตรกร