วช. สืบสานพระราชดำริ ขับเคลื่อนโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. พัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สืบสานพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขับเคลื่อนโครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

โครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 ซึ่งได้น้อมนำพระราชดำริพระราชปณิธานและพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาแปลงเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีโครงการย่อยที่เกิดขึ้นรวม 8 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาลำน้ำ ลำคลองและคุณภาพชีวิตของชุมชนริมน้ำ, โครงการผลิตแผงโซล่าร์เซลล์เพื่อเป็นพลังงานทดแทนและสำหรับสำรองไฟกรณีฉุกเฉินให้แก่ประชาชน, โครงการผลิตเครื่องกำจัดมลพิษทางอากาศ PM 2.5 และ PM 10 และการรับรองมาตรฐานสิ่งประดิษฐ์ภายใต้โครงการ, โครงการลดและคัดแยกขยะของชุมชน, โครงการนำนวัตกรรมไปจัดการกับวัชพืชและผักตบชวาเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน, โครงการ 1 จังหวัด 1 ถนนเฉลิมพระเกียรติ, การเพิ่มสวนหย่อม/สวนสาธารณะให้แก่ชุมชน, และโครงการจิตอาสาดับไฟป่าเฉพาะกิจ

ทั้งนี้ เพื่อสืบสานพระราชดำริและต่อยอดโครงการดังกล่าว วช. จึงได้จัดกิจกรรม “การนำนวัตกรรมไปจัดการกับวัชพืชและผักตบชวา เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน” ภายใต้ “โครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ในวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ณ ห้องประชุมเฟื่องฟ้า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ตำบลโพธิ์แตง อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี พลโท ธรรมนูญ วิถี แม่ทัพน้อยที่ 1 เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม และศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวต้อนรับ

วช. มอบนวัตกรรม “เครื่องผลิตปุ๋ยหมัก” ให้กับชุมชนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้น ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดแรกในการดำเนินกิจกรรม เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน และทำให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา มีรายได้จากนำวัชพืชและผักตบชวามาทำปุ๋ยหมักหรือดินปลูก เพื่อนำไปใช้ในการเกษตรและจำหน่าย ซึ่งส่งผลให้สิ่งแวดล้อมในคลองและลำน้ำดีขึ้น และผลักดันให้เกิดเป็นต้นแบบชุมชนในการจัดการกับวัชพืชและผักตบชวาในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนและขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ต่อไป

การดำเนินงานอาศัยข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการวัชพืชและผักตบชวา ที่สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบตั้งแต่การนำมาผลิตเป็นเครื่องจักสาน งานหัตถกรรม การใช้เพื่อการบำบัดน้ำ การใช้เพื่อผสมเป็นอาหารสัตว์ การนำมาหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ ตลอดจนการนำมาทำเป็นวัสดุปรับปรุงดินและปุ๋ย แต่กิจกรรมการนำวัชพืชและผักตบชวามาแปรรูปในการทำปุ๋ยหมักหรือดินปลูก เป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ดีและยั่งยืนที่สุด

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ วช. ได้นำนวัตกรรม “เครื่องผลิตปุ๋ยหมัก” ผลงานวิจัยของ ดร.ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. และ“ระบบคลังความรู้งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาลำน้ำ” บนเว็บไซต์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (www.krw.nrct.go.th) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนสามารถนำความรู้งานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาลำน้ำและชีวิต แก้ไขปัญหาลำน้ำได้ตรงความต้องการของชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิต และเพิ่มรายได้ให้ประชาชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป