สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จับมือ ศอบต. เร่งปั้นสตาร์ทอัพในพื้นที่ชายแดนใต้ หวังบูมเศรษฐกิจ-คุณภาพชีวิตด้วยนวัตกรรม

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ (ศอบต.) เร่งขับเคลื่อนการส่งเสริมนวัตกรรมในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน ชี้กลุ่มธุรกิจและรูปแบบนวัตกรรมที่มีโอกาสเติบโตในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ นวัตกรรมอุตสาหกรรมฮาลาล นวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม นวัตกรรมด้านช่องทางการค้า และนวัตกรรมด้านการเกษตร

นายปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย NIA ได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ (ศอบต.) เดินหน้ายุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมภาคใต้ชายแดน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ด้วยการต่อยอดงานวิจัยและองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์กรภาครัฐ มหาวิทยาลัย นักพัฒนาไปสู่ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ และวิสาหกิจชุมชน

โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีเป้าหมายในการสร้างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพและความยั่งยืนในแง่ของชีวิตความเป็นอยู่ การศึกษา สาธารณสุข การอำนวยความสะดวกสบาย ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้เทียบเท่ากับในระดับหัวเมืองที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้มีความน่าลงทุนมากขึ้น

ด้าน นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำหรับภาคใต้ชายแดน เป็นกลุ่มพื้นที่ที่ไม่เพียงแต่จะมีความโดดเด่นในแง่ของศิลปวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดขึ้น เนื่องด้วยความตื่นตัวของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่ ทั้งยังมีการแพร่กระจายงานวิจัยและองค์ความรู้จากกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนไลฟ์สไตล์และวิถีการดำเนินชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเข้าถึงเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จากการได้มีโอกาสใกล้ชิดและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับผู้ประกอบการในภาคใต้ชายแดนยังพบอีกว่า ประเภทของกลุ่มธุรกิจหรือรูปแบบนวัตกรรมที่มีโอกาสเติบโตในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่

· Halal Innovation หรือนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตกับกลุ่มประชากรในพื้นที่ภาคใต้ ภาคใต้ชายแดน และกลุ่มประเทศใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าและการเติบโตสูง โดยในการพัฒนานวัตกรรมด้านดังกล่าวสามารถนำไปต่อยอดได้ทั้ง ธุรกิจอาหาร ธุรกิจด้านการแพทย์ ธุรกิจแฟชั่น และเครื่องแต่งกาย ฯลฯ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญและส่วนใหญ่ประกอบอาชีพและธุรกิจด้านนี้อยู่แล้ว ยังขาดแต่เพียงกระบวนการสร้างความแตกต่างและการเติมนวัตกรรม เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น นวัตกรรมเชิงสุขภาพ ระบบบริการใหม่ๆ การพัฒนาสินค้าที่มาจากธรรมชาติ รวมถึงการออกแบบและเพิ่มความทันสมัยให้สอดคล้องกับผู้บริโภค เป็นต้น

· Culture & Tourism Innovation โดยเป็นการหยิบนำความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมมาผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการด้านดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและดึงดูดใจมากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มเพื่อการเชื่อมต่อนักท่องเที่ยวเพื่อชาวไทยหรือชาวต่างชาติ บริการนำเที่ยวชุมชน ระบบจองที่พักและโรงแรม บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบจองตั๋ว ระบบจ่ายเงิน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและกระจายรายได้ไปสู่ผู้คนในชุมชน พร้อมสร้างการรับรู้ให้กับผู้คนทั่วไปได้รับทราบถึงสถานที่ท่องเที่ยวและศิลป วัฒนธรรมที่น่าสนใจของภาคใต้ชายแดนได้อีกหลายเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพหันมาพัฒนานวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ชายแดนแล้ว เช่น ยี่เทียนทัวร์ แพลตฟอร์มนำเที่ยวเพื่อลดปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญจากจีนและช่วยให้ชาวจีนเข้าถึงการท่องเที่ยวไทยได้ง่ายมากขึ้น หรือ Hotel Hub บริการซื้อขายสินค้าในธุรกิจโรงแรมด้วยแอปพลิเคชั่น เป็นต้น

· Market Place and E-Commerce ซึ่งเป็นการสร้างช่องทางการค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะที่ผ่านระบบออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ค เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ล้วนหาข้อมูลและซื้อสินค้าจากช่องทางดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการหรือผู้ทำการค้าจึงต้องสร้างระบบการค้าออนไลน์ที่สามารถขายสินค้าหรือบริการท้องถิ่นที่หาไม่ได้ทั่วไป เช่น สินค้าฮาลาล วัตถุดิบท้องถิ่น อาหารแปรรูป ของฝาก ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ง่ายมากขึ้น พร้อมลดปัญหาการตลาด การกระจายสินค้า ต่อเนื่องถึงการสร้างกลุ่มลูกค้าเฉพาะทางจำนวนมากในอนาคต

· Smart Farming หรือการทำเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ชายแดนส่วนใหญ่ยังมีประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และฟาร์มเลี้ยงสัตว์กันเป็นจำนวนมาก การนำแนวคิดสมาร์ทฟาร์มเข้ามาใช้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยตอบโจทย์การทำเกษตรยุคใหม่ โดยเฉพาะการรับรู้ข้อมูลที่แม่นยำ การลดอุปสรรคการทำเกษตรกรรม เช่น การกำจัดศัตรูพืช การควบคุมสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการพื้นที่ และยังจะช่วยลดต้นทุนกระบวนการผลิต สร้างมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ ควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ตลอดจนช่วยให้ผลผลิตมีราคาที่สูงกว่าฟาร์มทั่วไป

 

อย่างไรก็ดี การส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมภาคใต้ชายแดนถือเป็นอีกยุทธศาสตร์ที่ NIA จะเร่งดำเนินการสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการแพร่กระจายทางนวัตกรรมไปสู่ระดับภูมิภาค โดยมีหลากหลายปัจจัยที่ต้องเร่งพัฒนาอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น

1. การพัฒนาผู้ประกอบการต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจแก่นักศึกษา ประชาชน และสตาร์ทอัพที่สนใจทำธุรกิจนวัตกรรม นำไปต่อยอดหรือสร้างโซลูชั่นใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในภูมิภาค

 

2. การพัฒนาระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม เช่น บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญสูง การจัดตั้งศูนย์บริการ แบบ One-Stop-Service ฯลฯ

3. การเชื่อมโยงเครือข่ายจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้ประกอบการในภาคใต้ชายแดนได้รับองค์ความรู้ ไอเดีย และเทคนิคที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ

4. การสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อการต่อยอดธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนจากสถาบันการเงิน ภาคเอกชน และเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐ และ

5. การผลักดันสู่ช่องทางตลาด เช่น การประชาสัมพันธ์โครงการ การออกบู๊ธ การศึกษาดูงานต่างประเทศ การเชื่อมโยงสู่ช่องทางการค้าที่เป็นเครือข่าย เพื่อให้เกิดการซื้อขายได้จริงต่อไป นายวิเชียร กล่าวสรุป

นายอิสระ ละอองสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ กล่าวว่า ล่าสุดศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ได้ร่วมกับ NIA จัดให้มีกิจกรรม“Southernmost Technology and Innovation Festival” หรืองานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม จังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ระหว่าง วันที่ 4 -5 กันยายน 2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมและประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการนำนวัตกรรมมาใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ซึ่งในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ นิสิต-นักศึกษา ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นจำนวนมาก โดยยังมีการแสดงนิทรรศการด้านนวัตกรรมและสตาร์ทอัพกว่า 50 ธุรกิจ และงานสัมมนาด้านวิชาการที่สอดคล้องสำหรับการประยุกต์นวัตกรรม เพื่อปรับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้แนวความคิด “Groom Grant Growth”

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด หรือสนใจในการขอรับการสนับสนุนนวัตกรรม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.th