วช. นำผลงานวิจัยความเสียหายจากแผ่นดินไหว มาใช้เป็นบทเรียน การเฝ้าระวัง

ตามที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศลาว เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 โดยอ้างอิงจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาประเทศไทย พร้อมเปิดเผยภาพความเสียหายบางส่วนจากแขวงไชยบุรี ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกสุดของประเทศ มีพื้นที่ติดกับประเทศไทยทางด้านจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และจังหวัดเลย เบื้องต้นพบว่ามีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายหลายหลัง โดยตัวบ้านที่สร้างจากปูนมีรอยร้าวทั้งหลัง หลังคา ฝ้าเพดานพังถล่ม ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายเพิ่มเติมและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนการวิจัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา โดยมีผลงานวิจัยที่เป็นข้อมูลอาคารที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พบว่าเกิดความเสียหายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งอาคารที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่ เป็นอาคารที่ไม่ได้มีวิศวกรควบคุม (Non-engineered structures) ซึ่งเป็นอาคารที่ประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณภาคเหนือ ในขณะที่อาคารที่ก่อสร้างถูกหลักวิศวกรรมที่ถึงแม้ว่าไม่ได้รับการออกแบบต้านแผ่นดินไหวก็ตาม (Engineered structures) เกิดความเสียหายที่น้อยกว่าประมาณ 2 เท่า

เนื่องจากในประเทศไทยมีอาคารจำนวนมากที่ถูกก่อสร้าง โดยไม่มีการควบคุมจากวิศวกร ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายหรือพังทลายได้หากเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงในบริเวณใกล้เคียง ปัญหาของอาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกจำกัดด้วยงบประมาณ และความรู้ในการก่อสร้างทำให้มีจุดอ่อนในหลายลักษณะ จึงควรได้รับการดูแล จัดการ และแก้ไขอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากในเวลานี้คืออาคารสูงในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากสภาพชั้นดินของกรุงเทพมหานคร เป็นชั้นดินเหนียวอ่อน แม้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นจากระยะไกล แต่ด้วยสภาพชั้นดินของกรุงเทพมหานคร จะขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก จึงทำให้อาคารอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวดังกล่าว

โดยอาคารสูง เช่น คอนโดมีเนียม อาคารสำนักงาน ที่มีความสูง 10 ชั้นมีค่าความถี่ธรรมชาติต่ำ ซึ่งเป็นค่าความถี่การสั่นของอาคารที่ใกล้เคียงกับการสั่นไหวของพื้นดิน ทำให้เกิดการสั่นเข้าจังหวะกันระหว่างพื้นดินและอาคาร ทำให้อาคารสูงมีการสั่นสะเทือนที่แรงกว่าอาคารทั่วไป และอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร หากก่อสร้างก่อนปี พ.ศ. 2550 มีแนวโน้มที่จะไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว เนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทานความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ได้ประกาศใช้บังคับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา