ปิดทองหลังพระ ฯ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เงิน เงิน เงิน” การจัดการการเงินและการลงทุนแบบชาวบ้าน พื้นที่ จ.น่าน

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญ และกังวลถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ ๗๘.๗% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นภาพใหญ่ในระดับประเทศ เมื่อพิจารณาถึงคุณภาพของลูกหนี้และลูกหนี้ประเภทต่างๆ

ข้อมูลทุกสัญญาจากเครดิตบูโรพบว่า ประชาชนเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย  ผู้กู้ที่อายุระหว่าง ๒๙-๓๐ ปี พบว่า ๑ ใน ๕ ของกลุ่มนี้เป็นหนี้เสีย (NPL) ซึ่งหมายถึงคนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต หรือหนี้ภาคการเกษตรที่เป็นการกู้ไปทำธุรกิจ

ส่วนหนึ่งเป็นหนี้เกษตรกร ซึ่งพบว่า อายุ ๖๐ ปีไปแล้วภาระหนี้ยังไม่ลด  ดังนั้น เรื่องหนี้ครัวเรือนจึงเป็นปัญหาที่น่ากังวลมากสำหรับสังคมไทย  ยังไม่รวมหนี้จากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และหนี้นอกระบบ เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ จะพบว่าสูงถึง ๑๓๐-๑๔๐% เพราะตัวเลขหนี้เพิ่มเร็วกว่ารายได้ภาคครัวเรือน

จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องหนี้น้อยลง เพราะมีการกระตุ้นการซื้อแบบผ่อนส่งและไม่มีดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ยังมีการซื้อของทางอินเทอร์เน็ตกันตลอดเวลา ทำให้ง่ายต่อการเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดูเรื่องพฤติกรรมการใช้จ่ายพบว่า สัดส่วนการเป็นหนี้ยังขึ้นกับระยะเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตต่อวัน  ดังนั้น จึงพบว่าระดับหนี้ครัวเรือนของไทยใกล้จุดอันตรายแล้ว (ข้อมูลจาก : https://www.thaipost.net/main/detail/๔๖๗๗๕)

ในส่วนพื้นที่จังหวัดน่าน สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปี ๒๕๖๑ มีจำนวน ๒๐๑,๙๙๑ บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๘ ซึ่งมีจำนวน ๑๘๘,๑๖๑ บาท/ครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๓๕ ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

จากเดิมในปี ๒๕๕๘ จำนวน ๑๗,๕๙๘ บาท/ครัวเรือน เป็น ๑๙,๕๙๑ บาท/ครัวเรือน ในปี ๒๕๖๑ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๑.๓๖  ส่วนรายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก คือในปี ๒๕๕๘ มีรายจ่ายเฉลี่ย ๑๔,๒๗๘ บาท/ครัวเรือน และในปี ๒๕๖๑ จำนวน ๑๔,๒๙๘ บาท/ครัวเรือน (สำนักงานสถิติจังหวัดน่าน ปี ๒๕๖๑) แม้สถานการณ์ภาพรวมของหนี้ครัวเรือนในจังหวัดน่านจะยังไม่รุนแรงมากนัก แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่ครัวเรือนมีหนี้สูงขึ้นและรายได้สูงขึ้นด้วยนั้น หากคนในครัวเรือนมีความรู้ความเข้าใจทางการเงินจะช่วยให้ลดหนี้สินลงได้

สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ตระหนักถึงแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาพของประเทศ ภาค จังหวัด และชุมชน โดยเฉพาะความเสี่ยงที่กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต จึงร่วมกับจังหวัดน่าน และน่านฟอรั่ม จัดเวทีถ่ายทอดความรู้เรื่องการบริหารจัดการ การเงินและการลงทุนแบบชาวบ้าน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจถึงสถานการณ์การก่อหนี้ เสนอ แนวทางการบริหารจัดการการเงินที่ลดโอกาสการเป็นหนี้ และแนวทางในการวางแผนการใช้จ่ายของครัวเรือนอย่างเป็นระบบ โดยมีกรณีตัวอย่างทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีดังกล่าว เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ ถึงสถานการณ์การก่อหนี้ และความรู้ ความเข้าใจทางการเงิน ซึ่งจะช่วยลดหนี้ครัวเรือนได้ ตลอดจนเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างชุมชน/ครัวเรือน ที่มีการบริหารจัดการการเงินที่ดี ลดโอกาสการเป็นหนี้ และเงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ หรือไม่สำเร็จเป็นแนวทางและเครื่องมือที่จะช่วยบริหารรายรับ รายจ่ายของครัวเรือนได้อย่างเหมาะสม

สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับครั้งนี้ ชุมชนเป้าหมายที่เข้าร่วมเวทีถ่ายทอดความรู้ มีความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การระมัดระวังและวางแผนการใช้จ่ายของครัวเรือน ได้ตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการเงินที่ดีของชุมชน และปัจจัยความสำเร็จ ที่จะช่วยลดโอกาสการเป็นหนี้ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมกับภูมิสังคม และเครื่องมือที่จะช่วยบริหารรายรับ รายจ่ายของครัวเรือน และแนวทางในการลงทุนแบบไม่เสี่ยงต่อการเกิดหนี้