10 ปี พื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระ จ.น่าน สืบสานแนวพระราชดำริเพิ่มผืนป่า สร้างอาชีพ

เป็นวาระครอบรอบ 10 ปี ที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรม ปิดทองหลังพระฯ เลือกจังหวัดน่านเป็นพื้นที่นำร่องพื้นที่แรกเพื่อสร้างต้นแบบการประยุกต์แนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาพื้นที่ ในชื่อ “โครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน” ตั้งแต่ ปี 2552 เป็นต้นมา

เริ่มต้นโครงการคัดเลือก 20 หมู่บ้าน ใน 3 อำเภอ ซึ่งประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน ในลุ่มน้ำยาว ตำบลยอด อำเภอสองแคว 3 หมู่บ้าน ในลุ่มน้ำสบสาย ตำบลตาลชุม ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา และ 14 หมู่บ้าน ในพื้นที่ต้นน้ำน่าน ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ พื้นที่ 250,000 ไร่ พื้นที่ทางการเกษตร 72,409 ไร่ ประชากร 8,190 คน 1,945 ครัวเรือน ด้วยหลักการทำงาน “แก้ปัญหาที่จุดเล็กและทำตามลำดับขั้นตอน”

ก่อนปี 2552 จังหวัดน่าน มีความสำคัญในฐานะพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ต่อเนื่องไปยังแม่น้ำสายหลักของระบบน้ำในประเทศไทย แต่กลับเกิดปัญหาในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ส่งผลต่อความเป็นอยู่ อาชีพ ฐานะการเงิน และสุขภาพของคนในท้องถิ่นแบบต่อเนื่องยาวนาน เนื้อที่ประมาณ 7.17 ล้านไร่ สามารถทำการเกษตรได้ประมาณ 1.09 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 15.20 ของพื้นที่ทั้งหมด การบริโภคส่วนใหญ่ในจังหวัดเป็นการใช้จ่ายซื้อสินค้าปัจจัยในการดำเนินชีวิตจากภายนอกจังหวัด คิดเป็นเงินประมาณ 1.3 ล้านบาท ต่อปี

ปัญหาที่ตามมาส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัด รายจ่ายที่สูงกว่ารายรับของประชากรส่วนใหญ่ทำให้เกิดหนี้สินที่สูงขึ้น เฉลี่ยประมาณ 127,524 บาท ต่อครัวเรือน กลายเป็นจังหวัดที่มีภาวะความยากจนสูง มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรต่ำเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ สัดส่วนคนจน สูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรในจังหวัด เป็นลำดับที่ 2 ของภาคเหนือ

เมื่อขาดแคลนรายได้ การประกอบอาชีพจึงมาจากการบุกรุกแผ้วถางเผาทำลายป่าเพื่อการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เกิดการรุกรานทรัพยากร ป่าที่อุดมสมบูรณ์ กลายเป็น “เขาหัวโล้น” กระทบกับความเป็นอยู่ อากาศเสียเพราะหมอกควันจากการเผาเตรียมพื้นที่การเกษตร ฤดูแล้งเกิดความแห้งแล้ง แนวลุ่มน้ำเกิดอุทกภัยรุนแรงซ้ำซากช่วงมรสุม น้ำปนเปื้อนและดินเสื่อมด้วยสารตกค้าง จากการใช้เคมีการเกษตรเข้มข้น สุขภาพเสื่อมโทรมด้วยสารพิษในเลือดสูงกว่าระดับปกติ

การน้อมนำแนวพระราชดำริ เพื่อมุ่งการแก้ไขปัญหาทั้งลุ่มน้ำ เน้นการพัฒนา 6 มิติ หลักตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้แก่ น้ำ ดิน เกษตร พลังงานทดแทน ป่า และสิ่งแวดล้อม ตามสภาพภูมิสังคมและปัญหาในแต่ละพื้นที่ และหลักการทรงงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” สร้างความเข้าใจสภาพปัญหาความต้องการแท้จริงของชุมชน มีการเก็บข้อมูลรายครัวเรือน วิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเพื่อสร้างกระบวนร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมลงมือทำ และร่วมเป็นเจ้าของ

ประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” ถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำ ปรับปรุงปัจจัยการผลิตพื้นฐาน ทั้งน้ำ ดิน และเมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูกให้เพียงพอต่อความต้องการตลอดปี การจำหน่ายผลผลิต การแปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ก่อตั้งเป็นกองทุนที่ชุมชนบริหารจัดการเอง โดยองค์ความรู้จากโครงการพระราชดำริต่างๆ

จังหวัดน่าน มีจุดเด่นในด้านเครือข่ายชุมชน ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งได้ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาหลายด้าน มีการร่วมมือกับหน่วยงานภาคีต่างๆ องค์กร ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับปิดทองหลังพระฯ กว่า 44 หน่วยงาน เป็นพื้นที่ที่มีข้อมูลเป็นระบบเพียงพอที่จะช่วยให้แก้ไขปัญหาเชิงระบบได้

ตลอดระยะเวลาการทำงานร่วมกันชาวบ้านในพื้นที่ต้นแบบ 3 อำเภอ จังหวัดน่านมีความพร้อมในการเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสำรวจแปลงพื้นที่ทำกิน ไม่รุกล้ำแนวเขตอุทยานฯ ลงแรงพัฒนาระบบน้ำ ปรับพื้นที่ลาดชันเป็นแนวขั้นบันได ปรับปรุงบำรุงดิน ปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้พื้นที่น้อยลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

ผลจากการดำเนินงานในระยะ 10 ปี การพัฒนาระบบน้ำเพื่อการเกษตร พื้นที่รับประโยชน์ 14,378 ไร่ เกิดรายได้จากการพัฒนาระบบน้ำและกิจกรรมที่ส่งเสริม 1,726 ครัวเรือน มีครัวเรือนทฤษฎีใหม่ 1,726 ครัวเรือน 1,379 แปลง คิดเป็นร้อยละ 89 ของครัวเรือนทั้งหมด 1,946 ครัวเรือน ปรับพื้นที่นาขั้นบันไดและปรับปรุงบำรุงดิน 4,628 ไร่ ปลูกข้าวแบบลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตใช้สารชีวภัณฑ์ 5,955 ไร่ 111 ราย ผลผลิตเพิ่มจาก 17 ถัง/ไร่ เป็น 35 ถัง/ไร่

เกิดการรวมกลุ่มพึ่งพาตนเอง 15 กองทุน 4 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับมาตรฐาน GAP สมาชิกรวม 1,185 ราย มีเงินทุนหมุนเวียนและทรัพย์สิน 5,259,563 รายได้เฉลี่ยเกษตรกร 1,227,472 บาท/ปี
ด้านสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดำเนินงาน “โครงการปลูกป่า สร้างคน บนวิถีพอเพียง รักษาต้นน้ำบรรเทาอุทกภัยในจังหวัดน่านใน 20 หมู่บ้าน 3 อำเภอ ทำให้พื้นที่ไร่หมุนเวียนที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาทิ ไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง 28,904 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 43 ของไร่หมุนเวียนก่อนดำเนินโครงการ

สามารถฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ลดพื้นที่บุกรุก เพิ่มพื้นที่ป่า 106,580 ไร่ จากเดิม 103,389 ไร่ ทำให้มีพื้นที่ป่าทั้งหมด 209,970 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 83.99 พื้นที่เสียหายจากไฟป่าลดลงร้อยละ 99 จากการควบคุมการเผาพื้นที่ไร่ ทำแนวกันไฟ ออกลาดตระเวนเฝ้าระวังและดับไฟป่าช่วงฤดูแล้ง ชุมชนได้รับประโยชน์จากทรัพยากรป่ามีการตั้งคณะกรรมการดูแลป่า และกฏระเบียบชุมชน ใน 3 อำเภอ
การฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำลำธาร ร่วมกับชุมชนสร้างฝายอนุรักษ์เพื่อชะลอและกักเก็บน้ำ 6,258 แห่ง และร่วมกับจังหวัดน่านดำเนินงานโครงการซ่อมแซมปรับปรุงเสริมฝาย อ่างเก็บน้ำ การส่งน้ำด้วยระบบท่อฯ ระหว่างปี 2558-2561 รวม 1,056 โครงการพื้นที่รับประโยชน์ 96,588 ไร่ 32,549 ครัวเรือน จังหวัดน่าน


ประกาศหมู่บ้านขยายผลปิดทองหลังพระฯ ระหว่างปี 2556-2562 จำนวน 50 หมู่บ้าน 15 อำเภอ มีงบประมาณสนับสนุนหมู่บ้านขยายผล โดยใช้แนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ (พชร.)
ผลการพัฒนาตามลำดับขั้นการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ “ทฤษฏีใหม่” แต่ละพื้นที่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติก้าวสู่ขั้น “ชุมชนพึ่งพาตนเอง” อำเภอท่าวังผา เข้าสู่ขั้น “ชุมชนเชื่อมโยงสู่ภายนอก” อำเภอสองแควอยู่ในขั้น “ชุมชนเชื่อมโยงออกสู่ภายนอก” ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน
การแก้ไขปัญหาหลักของพื้นที่สามารถทำให้ครัวเรือนพึ่งพาตนเองได้ มีครัวเรือนที่สามารถประยุกต์แนวพระราชดำริ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ในการดำเนินชีวิตได้ถึงร้อยละ 89 ของครัวเรือนทั้งหมด ทำให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 91,681 บาท ในปี 2562 จากเดิมที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 58,061 บาท ในปี 2558 เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา เกิดองค์ความรู้เชิงบริหารจัดการที่เกิดจากการพัฒนา เกิดรูปแบบบูรณาการแผนงานและงบประมาณร่วมกับหน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ภายใต้ระบบการสร้างความเข้าใจ มีการศึกษาเรียนรู้ในพื้นที่จริง ชุมชนสามารถนำไปวิเคราะห์ปัญหาในพื้นที่ตนเองก่อนนำมาบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) มีหน่วยงานและชุมชนต่างๆ เข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปขยายผล และเกิดการขยายผลในพื้นที่ใกล้เคียง

แผนการดำเนินการที่ควรดำเนินงานระยะต่อไป มุ่งยกระดับองค์ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิต การแปรรูปผลผลิตให้ได้มาตรฐาน และรวมกลุ่มการผลิตในหมู่บ้านที่อยู่ในขั้น “ชุมชนรวมกลุ่มพึ่งพาตนเอง” และส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงกับตลาดภายนอก สำหรับชุมชนที่พัฒนาถึงขั้น “ชุมชนเชื่อมโยงออกสู่ภายนอก”มุ่งเน้นการเชื่อมแผนงานของชุมชนให้เข้าสู่ระบบปกติของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง