เผยแพร่ |
---|
จุดประกายสังคมแห่งการเรียนรู้ – เปิดบันทึกความภูมิใจครั้งใหม่ แห่งเกียรติภูมิ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้จัดงานเชิดชูเกียรติ คณาจารย์และนิสิตที่สร้างผลงาน สร้างชื่อเสียงให้กับคณะฯ มหาวิทยาลัย และประเทศชาติ ในงาน “เรียง 100 ความภูมิใจ Chulalongkorn Business School” ประจำปี 2563 ผ่านผลงานวิจัย และเวทีประกวดการแข่งขัน ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
ตอกย้ำการเป็น Chief Business School สถาบันทางด้านบริหารธุรกิจอันดับหนึ่งของไทย ที่สร้างสรรค์ บ่มเพาะบุคลากรที่มีคุณภาพ ให้มีส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาประเทศไทย โดยมี รศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ให้เกียรติเป็นประธานในงาน ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลงานที่ได้รับการเชิดชูเกียรติในครั้งนี้ มีงานวิจัยเรื่อง Evaluation of Outsourcing Transportation Contract Using Simulation and Design of Experiment ได้รับคัดเลือกให้เป็น Best Paper Award จากเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ The 8th Global Conference on Business and Social Sciences 2018
โดย ผศ.ดร.สิริอร เศรษฐมานิต อาจารย์ประจำภาควิชาพาณิชยศาสตร์ คณะบัญชีฯ จุฬาฯ เผยว่า “งานวิจัยชิ้นนี้สามารถนำไปต่อยอดในเรื่องของการจัดตารางการเดินรถที่เหมาะสมและจัดให้เกิดการขนส่งแบบเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดมลพิษ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ถือเป็นแนวความคิดด้านความยั่งยืนในอนาคต ปัจจุบันนี้ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในตำรา แต่สามารถเรียนรู้ได้จากสื่อต่างๆ
รวมถึงงานวิจัย เพราะการเรียนรู้ค้นหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยตัวเอง อาจารย์อย่างเรา ต้องปลูกฝังให้นิสิตเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการชี้แนะ นำทางให้พวกเขาค้นพบในสิ่งที่สนใจ เมื่อรู้ว่าตัวเองชอบและหลงใหลอะไร เราก็จะไม่หยุดค้นคว้าและพัฒนาตัวเอง เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งกับตัวเอง สังคม และประเทศชาติ”
อีกหนึ่งผลงานวิจัยที่ได้รับการเชิดชูเกียรติในครั้งนี้ คือ งานวิจัยการศึกษาพฤติกรรมการเข้าชมเว็บไซต์ อเมซอน (Visit Behavior at Amazon.com: An Analysis of Viewers’ Demographics) ที่ได้รับรางวัล Best Paper Award ในการประชุม The 2019 International Conference on Business Management Research (IBMRC 2019)
โดย รศ.ดร.ชัชพงศ์ ตั้งมณี อาจารย์ประจำภาควิชาสถิติ คณะบัญชีฯ จุฬาฯ เผยว่า “งานวิจัยนี้จะสะท้อนความสำคัญของฐานข้อมูลที่เป็นกลาง เพื่อการวิจัย และพัฒนาเศรษฐกิจสังคม โดยเผยพฤติกรรมการเข้าใช้บริการเว็บไซต์ คือตัวแปรสำคัญชี้อนาคตค้าปลีกออนไลน์ของกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยในไทย จากการศึกษาพฤติกรรมการเข้าชมเว็บไซต์อเมซอน พบว่า ครอบครัวที่มีลูกตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์นานกว่าและดูหลายหน้า มากกว่าครอบครัวเกิดใหม่ที่ยังไม่มีลูก อาจเนื่องจากไม่มีเวลาออกไป ช้อปปิ้ง การช้อปปิ้งออนไลน์จึงเป็นช่องทางหลัก เป็นต้น”
ในขณะที่ด้านนิสิตที่สร้างชื่อเสียงให้แก่คณะ ด้วยการคว้าชัยชนะระดับโลกจากการแข่งขันกรณีศึกษาทางธุรกิจในงาน AIBC Alberta International Business Competition 2019 จัดขึ้น ณ เมืองแจสเปอร์ รัฐอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา
โดย ณัฐธยาน์ สิทธิศรัณย์กุล ตัวแทนนิสิตจากภาควิชาบริหารธุรกิจบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) เผยว่าเวลา 3 เดือน ในการเตรียมตัวหาข้อมูล ฝึกแก้ไขกรณีศึกษาทางธุรกิจเช่นเดียวกับการแข่งจริง โดยมีอาจารย์ รวมถึงพี่ๆ ศิษย์เก่าโค้ชชิ่ง ช่วยสอนเพื่อให้พร้อมสู่การแข่งขัน ในช่วงของการแข่งขัน ไม่รู้สึกกดดันว่าต้องชนะ พยายามโฟกัสขั้นตอนการทำงานมากกว่า ทำให้ผลที่ได้ เป็นที่ชนะใจกรรมการด้วยกลยุทธ์ที่มีความสด ใหม่ มีการสื่อสารที่โดนใจเข้าถึงอารมณ์ และยังมีความละเอียดที่ครอบคลุม เสริมให้กลยุทธ์ธุรกิจที่นำเสนอมีความแข็งแกร่ง การแข่งขันไม่เพียงเปิดประสบการณ์
แต่เรายังได้พัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกขั้น ได้เรื่องการจัดระบบความคิด การวิเคราะห์ที่เป็นระบบ จะช่วยในเรื่องการบริหารจัดการเวลาได้ดี รางวัลที่ได้ไม่เพียงเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จที่พวกเราทุ่มเท แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือการเติบโตทางความคิดของเรานั่นเอง