ปิดทองฯ นำร่องส่งเสริมเกษตรกรรายได้น้อย “ปลูกผักโรงเรือน ฝ่าวิกฤติภัยแล้ง”

ภัยแล้ง 2563 วิกฤติหนัก ปิดทองหลังพระฯ สร้างต้นแบบปลูกผักโรงเรือนใช้น้ำน้อย ทำ“เกษตรแม่นยำ” นำพาเกษตรพื้นที่ต้นแบบฝ่าวิกฤตภัยแล้ง ทำแบบครบวงจรให้ความรู้ สู่ตลาดโมเดิร์นเทรด
จากการคาดการณ์ วิกฤติภัยแล้งปี 2563 จะรุนแรงโดยต่อเนื่องถึงกลางปี เนื่องจากปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติ 3-5 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลายแห่งจะขาดแคลนน้ำใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตรจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด
นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า สถาบันฯ ได้ร่วมกับจังหวัดอุดรธานี ดำเนินโครงการนำร่อง “ปลูกผักโรงเรือน แก้ปัญหาภัยแล้ง” เพื่อสร้างรายได้ช่วงขาดแคลนน้ำและมีรายได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี โดยได้คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบ 10 ราย ที่อยู่ในพื้นที่ปิดทองหลังพระฯ บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมโครงการ

การดำเนินงานโครงการ สถาบันฯ เป็นผู้สนับสนุนโรงเรือนให้เจ้าของที่ดินผู้ร่วมโครงการฯ โดยคัดเลือกเกษตรกรที่สมัครใจ มีประสบการณ์ปลูกผักอยู่แล้ว มีน้ำต้นทุนเพียงพอ พร้อมแบ่งพื้นที่และน้ำให้เกษตรรายอื่นที่เข้าร่วมด้วย โดยบริการกลุ่มในรูปแบบกองทุนที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องคืนเงินสมทบเข้ากองทุนหลังจากมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตแล้ว

โครงการปลูกผักโรงเรือนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง เป็นความร่วมมือแบบบูรณาการของหลายภาคส่วนที่ทำแบบครบวงจร โดยจังหวัดอุดรธานีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ กรมชลประทานดูแลเรื่องการทำระบบน้ำหยดในแปลง กรมพัฒนาที่ดินทำการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด กรมป่าไม้ดูแลเรื่องการปลูกป่าในพื้นที่ต้นน้ำ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ให้ความรู้อบรมเรื่องการบริหารจัดการแปลงเกษตรชุมชน บริษัทสยามแม็คโครฯ ร่วมในการวางแผนการปลูกผักให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและรับซื้อผลผลิต เป็นต้น

โครงการปลูกผักโรงเรือนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง เรียกว่า เป็นการทำการเกษตรแม่นยำ ซึ่งสามารถวางแผน กำหนดระยะเวลาการปลูกได้อย่างถูกต้อง และครั้งนี้เป็นการปลูกผักในโรงเรือนครั้งแรก เกษตรกรเลือกพืชที่มีประสบการณ์ปลูกมาแล้ว คือ ต้นหอม ผักชี เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดช่วงหน้าแล้ง ขายได้ราคาดี ใช้เวลาปลูก 45 วันก็เก็บเกี่ยวได้ ในส่วนของโรงเรือนปลูกผัก มีขนาด 6×24 ตารางเมตร มีโต๊ะปลูกผักจำนวน 8 โต๊ะ ปลูกได้ 5,000 ต้น ใน 1 ปีสามารถปลูกได้ถึง 8 ครั้ง

ส่วนน้ำที่ใช้ในการรดผักเป็นแบบน้ำหยด ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อบาดาลที่เกษตรกรมีอยู่แล้ว สูบโดยเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นถังพักน้ำและกระจายน้ำสู่โต๊ะปลูกผัก ซึ่งระบบน้ำหยดจะใช้น้ำน้อยกว่าสปริงเกอร์ 18 เท่า ใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกข้าว 112 ลูกบาศก์เมตร/ไร่

แม้ค่าลงทุนโรงเรือนปลูกผักครั้งแรกจะมีราคาสูงประมาณ 140,000 บาท แต่จะประหยัดในเรื่องการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เนื่องจากโรงเรือนปลูกผักแบบโต๊ะจะสามารถควบคุมดินปลูก ป้องกันแมลงได้ และใช้วัสดุที่หาได้ง่าย ทำได้เอง เกษตรกรสามารถซ่อมแซมได้หากเกิดการชำรุด เสียหาย ด้านรายได้การปลูกผักในโรงเรือนฯ จะมีรายได้มากกว่า 190,000 บาท/ไร่/ปี  ขณะที่ปลูกข้าว รายได้ 4,365 บาท/ไร่/ปี  ข้าวโพด 3,321 บาท/ไร่/ปี รวม 7,686 บาท เมื่อเทียบกันแล้วการปลูกผักในโรงเรือนใช้น้ำน้อยได้กำไรมากกว่าข้าวและข้าวโพดประมาณ 25 เท่า และเป็น 71 เท่าของมันสำปะหลังที่มีรายได้ 2,700 บาท/ไร่/ปี สำหรับการลงทุนต่อ 1 โรงเรือน เกษตรกรจะต้องทยอยคืนเงินกลับสู่กองทุน คาดการณ์จะคืนทุนภายใน 3ปี

สถาบันฯ จะทำการวิจัยและพัฒนาโครงการ จัดทำเป็นแนวทางการปลูกผักในโรงเรือนฯระบบน้ำหยดแบบแม่นยำ เพื่อขยายผลต่อไป โดยจังหวัดอุดรธานีจะใช้เป็นต้นแบบเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนในอำเภออื่น ขณะที่ปิดทองหลังพระฯจะขยายผลไปยังพื้นที่ต้นแบบ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่นและผู้ที่สนใจต่อไป นายการัณย์กล่าวเพิ่มเติม