ปิดเทอม เด็ก ”เล่นอิสระ” เติมเต็มวันว่างอย่างสร้างสรรค์

“ทุกวันนี้เด็กไทยมีเวลาเล่นน้อยลง รายงานวิจัยพบว่า เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เน้นวิชาการ เด็กจะมีเวลาเล่นอิสระไม่ถึง 60 นาที ต่อวัน โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องเรียน และการเรียนพิเศษ จึงต้องเร่งสร้างความตระหนักในกลุ่มผู้ใหญ่เพื่อให้ความสำคัญของการเล่นอิสระของเด็ก”

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เกริ่น ในงานแถลงข่าว เปิดตัวโครงการ ปิดเทอมสร้างสรรค์-อัศจรรย์วันว่าง ปี 2563 ที่ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ลิโด้ คอนเน็คท์ กรุงเทพฯ

เวทีเสวนา เริ่มจากที่ 2 ซ้าย คุณทิชา ณ นคร -คุณอรอนงค์ เจริญลาภนำชัย-คุณนีลชา เฟื่องฟูเกียรติ -คุณปราชญา ศิริมหาอาริยะโพธิ์ญา
ดร สุปรีดา อดุลยานนท์

ดร. สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ดำเนินการโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยริเริ่มให้เกิดแพลตฟอร์มออนไลน์ ในชื่อ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล เชื่อมร้อยกิจกรรมจากทุกหน่วยงาน สนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กโต และพื้นที่ “เล่นอิสระ” สำหรับเด็กเล็ก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งสิ้น 298 หน่วยงาน เพื่อจะทำให้วันว่างช่วงปิดเทอมของเด็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยในปีนี้ มี 2,228 กิจกรรม ที่เด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้าร่วมอย่างน้อย 111,400 คน และมีตำแหน่งงานพาร์ทไทม์รองรับกว่า 10,000 ตำแหน่ง ขณะที่ส่วนภูมิภาคใน 15 จังหวัด มีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเพิ่มขึ้น มีกิจกรรมน่าสนใจสำหรับเด็กเยาวชนครอบคลุมทั่วประเทศ

รูปแบบกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ เน้นการพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะทางสังคม ปลดปล่อยศักยภาพ เพื่อตามหาความฝัน แบ่งปันสังคม และค้นหาตัวตน ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกในยุคปัจจุบันมีสิ่งเร้าทำให้เด็กก้าวพลาด ซึ่งงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ ปิดเทอมสร้างสรรค์ -อัศจรรย์วันว่าง ปี 2563 สสส. ได้จัดเวทีเสวนา หัวข้อ “เติมเต็มวันว่างอย่างสร้างสรรค์เป็นเรื่องสำคัญของใครกันแน่” เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ มาร่วม แชร์ประสบการณ์ ถ่ายทอดแง่คิด มีหลากหลายมุมมองที่น่าสนใจ

ทิชา ณ นคร (ป้ามล) ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก บอกเล่า ในเวทีเสวนาว่า ในสังคมไทยมีจำนวนครอบครัว 22.8 ล้านครอบครัว มีเพียงส่วนน้อยที่ช่วงปิดเทอมได้พาลูกไปเที่ยวเมืองนอก มีกิจกรรมให้ลูกทำ แต่มีครอบครัวส่วนมาก และมีฐานะอยู่ในระดับต่ำ ไม่รู้จะไปทางไหน มีตัวอย่างครอบครัวที่แม่เป็นช่างเย็บผ้า ใช้วิธีแลกแบงก์ 50 เก็บไว้ ให้ลูกทุกวัน เพื่อไปเล่มเกมในช่วงปิดเทอม นึกภาพเด็กไปจมอยู่ในร้านเกม คิดว่าเรื่องเหล่านี่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาคประชาสังคม ต้องมาร่วมรับผิดชอบ เด็กต้องการพื้นที่ที่สร้างสรรค์ แต่หายาก ขณะที่หลายประเทศพร้อมจะลงทุนเพื่อเด็ก เพราะรู้ว่าเมื่อเด็กก้าวพลาด ต้นทุนการเยียวยานั้นสูงมาก และไม่แน่ใจว่าค่าเยียวยานั้นจะทำให้ชีวิตเขากลับมาหมดจดงดงามหรือไม่

“มีบันทึกของเยาวชนบ้านกาญจนา ที่ก่ออาชญากรรม เราพบว่า รูปแบบของครอบครัว 21 แบบ เป็นปัจจัย ผลักไสไล่ส่งให้ไปก่ออาชญากรรม หนึ่งใน 21 ข้อ คือครอบครัวที่ไม่มีกิจกรรมร่วมกัน บ้านเงียบไม่มีใครพูด ต่างคนต่างอยู่กับเทคโนโลยี จนวันหนึ่งเด็กอยากพูดอะไรกับพ่อแม่ แต่ความที่ไม่เคยพูดกัน ทำให้ไม่มีทักษะ แม้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะที่ผ่านมาแม้เรื่องเล็กยังไม่เคยคุย นับประสาอะไรกับเรื่องใหญ่ๆ” ป้ามล สะท้อนปัญหาให้ฟัง


ขณะที่ อรอนงค์ เจริญลาภนำชัย หรือ แม่ปุ้ม จากเพจ พาลูกเที่ยวดะ ถ่ายทอดรูปแบบการเลี้ยงลูกที่ต้องพาลูกออกไปนอกบ้านว่า การพาลูกออกไปนอกบ้าน ช่วยสร้างประสบการณ์เรียนรู้ ได้เห็นชัดว่าลูกมีประสบการณ์ไม่นับความแปลกใหม่ของสถานที่ เพราะทุกอย่างที่เขาเจอคือประสบการณ์ ไม่ว่าความไม่ได้ดั่งใจของสภาพดินฟ้าอากาศ ได้เจอผู้คน การต่อรองสินค้า การขอความช่วยเหลือ เหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือมาใช้ในชีวิตประจำวันและอนาคต

“สิ่งแรกที่จุดประกายอยากพาลูกออกไปนอกบ้าน เพราะทุกวันนี้มีสิ่งเร้าเยอะ ทุกบ้านมีทีวี พ่อแม่มีโทรศัพท์ ต่อให้เราไม่ให้เขาก็รู้ว่าในนั้นมีภาพ ถ้าปล่อยให้อยู่ที่บ้าน เขาจะเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ ซึ่งกิจกรรมข้างนอกไม่ใช้แค่ไปเที่ยว แค่ไปตลาด ไปตามสวนสาธารณะ จะทำให้เขาจะโฟกัสกับสิ่งรอบตัวแทน ลืมเรื่องการเล่นมือถือดูทีวีออกไป ดังนั้น ในช่วง 3 ปีแรกของเด็กสำคัญมาก พ่อแม่ต้องทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่มีตัวตน ทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาอยู่กับพ่อแม่แล้วปลอดภัย อบอุ่น” แม้ปุ้มเล่า

ส่วน นีลชา เฟื่องฟูเกียรติ หรือ ครูเบิร์ด จากเพจ เบิร์ดคิดแจ่ม Bird KidJam บอกเล่า ประสบการณ์ในชีวิตของตัวเอง ที่สอดรับกับข้อมูล 3 ปีแรกของเด็ก กับพ่อแม่ที่มีตัวตนว่า ตัวเองเป็นเด็กต่างจังหวัด อาศัยในบ้านพักครู มีเหตุการณ์หลายอย่างเป็นฉากในชีวิต เช่น เราเล่นสมมุติว่าเป็นหมอผ่าตัดกับน้อง หาอะไรเล่นกับน้อง ซึ่งเราเล่นกันเอง พ่อแม่ไปทำงานหมด ทำให้ย้อนนึกได้ความมีตัวตนของพ่อแม่ที่มีอยู่ในตัวเรา เพราะพ่อแม่เริ่มต้นให้ความรัก ความอบอุ่น ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย และมั่นใจที่จะเติบโตขึ้น เด็กอยากอยู่กับพ่อแม่ที่นั่งตักแล้วฟังนิทาน ถามว่าวันว่างทำอะไร แล้วแต่ครอบครัวเราเรียกร้องการทำกิจกรรมวันว่าง ถ้าไม่ได้จะทำอะไร เราต้องใช้ความเข้มแข็งในจิตใจ ถ้าพ่อแม่ไม่สนใจต้องคิดเองได้

ขณะที่น้อง ปราชญา ศิริมหาอาริยะโพธิ์ญา ประธานสภาเด็กและเยาวชนเขตบางกะปิ วัย 14 ปี ในฐานะแกนนำเด็กเยาวชนเรียกร้องให้เด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าพบจิตแพทย์ได้โดยที่ไม่ต้องมีผู้ปกครองรับรอง เล่าว่า ครอบครัว แม่ลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก จำได้แม่อยากให้พูดภาษาอังกฤษ จึงทำตัวอักษรภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ A ถึง Z ติดอยู่ที่ฝาผนัง ทุกวันนี้ยังอยู่ เราจะมองทุกวัน แม่สอนอ่านทุกวัน ตรงนั้นได้รับความอบอุ่น จนเราเข้าโรงเรียน เราไม่รู้ว่าเราอ่านตัวอักษรนี้ได้ รู้สึกว่าแม่เป็นครู เป็นสิ่งใกล้ตัวที่ดีที่สุดในชีวิต ทำให้ชีวิตเรามีความมั่นใจกล้าพูดกล้าแสดงออก

การสื่อสารเชิงบวกในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ มีข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ป้ามล เล่าว่า เด็กที่เติบโตโดยไม่ได้รับความอบอุ่นจากพ่อแม่ เพราะความยากจน หรือพ่อแม่เข้าไม่ถึง พบว่า ทักษะการสื่อสารของเด็กต่ำมาก และจะมีปัญหาหลายอย่างตามมา เมื่อต้องแลกเปลี่ยนความคิด ให้คำปรึกษา เรารู้สึกว่าเจอทางตันทุกครั้ง ดังนั้น เราจึงออกแบบกิจกรรมให้เด็กดูภาพการ์ตูน แล้วมาวิเคราะห์ เช่น ภาพการ์ตูน พีนอคคีโอ ที่จมูกยาวขึ้นเรื่อยๆ เพราะพูดโกหก แต่พบว่า มีเด็กบางคนไม่เข้าใจการสื่อสารเหล่านี้ เพราะตีความในเชิงสัญลักษณ์ไม่ได้ ทำให้วัยเด็กของเขาไม่สนุก กลายเป็นปัจจัยผลักไสไล่ส่งเด็ก ดังนั้น นิทานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญของวัยเด็ก และโรงเรียนควรมีชั่วโมงเล่านิทานบังคับ

ในจำนวน 22.8 ล้านครอบครัว มีครอบครัวส่วนใหญ่ที่นึกไม่ออกว่าเลี้ยงลูกต้องคุยกัน หรือกำลังคิดว่าต้องหากิจกรรมอะไรให้ลูกทำในช่วงปิดเทอม กิจกรรมใกล้ตัว เช่น การทำความสะอาดบ้าน จัดบ้าน หรือออกกำลังกาย ง่ายๆ แค่นี้ เท่ากับสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน