“สบขุ่นโมเดล”จากโมเดลสู่ความสำเร็จ

นับตั้งแต่ช่วงปลายปีจนถึงเดือนมีนาคมของทุกปี พื้นที่ภาคเหนือของประเทศ มักจะเผชิญปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างหนัก ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองในอากาศเกินค่ามาตรฐาน และกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นภาคเหนือตอนบนหลายจังหวัด ซึ่งสาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น อากาศแห้งแล้งก่อให้เกิดไฟป่า หรือการเผาป่าในพื้นที่เกษตรกรรม ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดช่วงเวลาการเผา (เผาพืชทางการเกษตร) โดยประกาศช่วงวิกฤติหมอกควัน 60 วันห้ามเผาเพื่อเป็นการควบคุม  แต่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันของทุกปียังคงได้เห็นข่าวหมอกควันปกคลุมในหลายที่จังหวัดของภาคเหนือตอนบน

ทุกครั้งที่เกิดปัญหาหมอกควันขึ้นมา หลายคนมักพุ่งประเด็นไปที่ การเผาซากไร่ข้าวโพด และเผาป่า เพื่อทำไร่ข้าวโพด แต่หลังจากกระแสเขาหัวโล้นในจังหวัดน่าน ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ นำโดย ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือฯ ได้ลงพื้นที่บ้านสบขุ่นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2558  โดยได้รับคำแนะนำพื้นที่จากมูลนิธิปิดทองหลังพระ เข้าไปศึกษาพื้นที่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งสุดเขตจังหวัดน่าน คือ บ้านสบขุ่น ที่ห่างไกลจากตัวเมืองประมาณ 80 กม.

จากการเก็บข้อมูลในครั้งนั้น เครือซีพีพบโอกาสในการเปลี่ยนอาชีพชาวบ้าน โดยเลือกพื้นที่นำร่องที่บ้านสบขุ่น ซึ่งเครือซีพีเข้าไปร่วมสนับสนุนปลูกพืชเศรษฐกิจ และเตรียมตลาดรองรับ ในช่วงปีแรกที่ริเริ่มโครงการ มีชาวบ้านเข้าร่วมเพียง 49 ราย ต่อมาเมื่อชาวบ้านเห็นว่าผู้เข้าร่วมโครงการเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น มีรายได้ระหว่างรอพืชหลักเจริญเติบโตและยังได้เก็บผัก ผลไม้ในไร่ในสวนมารับประทาน ที่เหลือยังนำมาขายเปลี่ยนหน้าบ้านเป็นตลาด จึงเริ่มมีความมั่นใจและทยอยเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เกิดเป็น “สบขุ่นโมเดล” ที่บ้านสบขุ่น ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ซึ่งมีประชากร 328 คนจำนวน 1,185  ครัวเรือน พื้นที่ทำกินทั้งหมด 42,895 ไร่ เป็นพื้นที่ดอยหัวโล้นที่ถือครองในการปลูกข้าวโพด โดยเครือซีพีได้เริ่มวางโมเดลการพัฒนา เติมทักษะในสิ่งที่เกษตกรขาด ความรู้การบริหารจัดการ เงินลงทุน และช่องทางจัดจำหน่าย

ในตอนนั้นชาวบ้านช่วยกันตั้งชื่อกลุ่ม เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบ้านสบขุ่น เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ และเกิดการมีส่วนร่วมของคนในกลุ่ม จึงก่อเกิดการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภายใต้โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามแนวทางพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพให้ปลูกไม้ป่าควบคู่ไม้เศรษฐกิจ เพื่อรักษาฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่ถูกทำลาย พร้อมกับการสร้างจิตสำนึก โดยให้ประชาชนร่วมกันฟื้นฟูป่าที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน ได้จับมือกับภาครัฐ และบริษัทในเครือซีพีร่วมกันฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

จากการศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าพืชเศรษฐกิจที่จะสามารถสร้างป่า สร้างรายได้ คือ กาแฟ ซึ่งเป็นพืชมูลค่าสูงที่ให้ผลผลิตตอบแทนที่ดีกว่าข้าวโพด หากเปรียบเทียบ กาแฟ ใช้พื้นที่น้อยแต่ให้มูลค่าสูง ต่างกับการปลูกข้าวโพด ที่ต้องอาศัยพื้นที่ในการเพาะปลูกจำนวนมาก แต่ได้ผลตอบแทนที่น้อย นอกจากนี้กาแฟเป็นพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะต้องอาศัยไม้พี่เลี้ยงคอยเป็นร่มเงา ทำให้ชาวบ้านสามารถอาศัยทำกินอยู่ร่วมกับป่าได้ โดยมีรายได้เสริมจากการปลูกพืชเศรษฐกิจโดยไม่ทำลายป่าไม้ นอกจากนั้นเกษตรกรบ้านสบขุ่น ได้รับจดจัดตั้งชื่อกลุ่มใหม่ โดยให้สามารถนำชื่อโครงการไปใช้ในการจัดตั้งกลุ่มได้ เป็น วิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้บ้านสบขุ่น

สบขุ่นโมเดล ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 5 ของโครงการ มีชาวบ้านเข้าร่วมแล้วจำนวน 101 ราย 129 แปลง สามารถช่วยลดพื้นที่การถางและเผาป่า ภูเขาหัวโล้นได้ถึง 641 ไร่ และปัจจุบัน ได้พื้นที่ฟื้นป่ากลับมา ทั้งหมด 1,822 ไร่ เปลี่ยนจากดอยหัวโล้นเป็นที่ป่าเขียว 42.91% ของพื้นที่เดิม

ปัจจุบันทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้บ้านสบขุ่น ขับเคลื่อนการจัดตั้งบริษัท สบขุ่น โซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด  โดยจัดทำโรงแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของกาแฟตลอด Supply Chain เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกิดการจ้างงานในชุมชน และ เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจระดับชุมชน ลูกค้าได้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนกาแฟ ผลรับซื้อกาแฟเชอร์รี่จากเกษตรกร แปรรูป และ จัดจำหน่ายกาแฟสารให้ True Coffee เริ่มสร้างรายได้รวมให้กลุ่มสมาชิก ปีที่ 1 ได้แล้ว

จากความสำเร็จในขั้นต้นของโมเดลการขับเคลื่อนนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่พร้อมจะมีการขยายพื้นที่โครงการออกไปยังอำเภอต่าง ๆ และเชิญชวนชาวบ้านเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ชาวบ้านมีรายได้เลี้ยงตนเองอย่างพอเพียงอย่างยั่งยืนต่อไป