มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ครบรอบ 22 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) สถาปนามหาวิทยาลัยครบรอบ 22 ปี ในปีนี้ พร้อมกับการได้รับการจัดอันดับ Times Higher Education ด้วยคะแนนด้านความเป็นนานาชาติ 52.7 สูงเป็นอันดับที่ 1 ของมหาวิทยาลัยไทย สองปีต่อเนื่อง และได้รับคะแนนด้านการอ้างอิง 60.4 คะแนน สูงเป็นอันดับที่ 1 ของมหาวิทยาลัยไทย ติดต่อกันสองปีซ้อน

ตลอดจนได้รับการจัดอันดับ 1 ใน 100 กลุ่มมหาวิทยาลัยน้องใหม่ของโลก ด้านการอ้างอิงผลงานวิชาการ โดยมีความหวังที่จะก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ 1 ใน 5 ของอาเซียน ภายใน 10 ปี ด้วยกำลังขับเคลื่อนของผู้บริหาร คณาจารย์ และพนักงาน นำโดย รศ.ดร. ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี ที่จะมุ่งเน้นงาน 4 ด้าน ประกอบด้วย สร้างความเป็นเลิศทางด้านคุณภาพการศึกษา ด้านการเรียนการสอน ด้านการให้บริการการศึกษา และด้านความเป็นนานาชาติ

มฟล. ได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 โดยมี รศ.ดร. วันชัย ศิริชนะ เป็นอธิการบดีผู้ก่อตั้ง (ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง) นับถึงวันนี้เป็นเวลา 22 ปี ได้ปฏิบัติภารกิจอุดมศึกษาครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิตบัณฑิต การแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ การให้บริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

รศ.ดร. ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี

พร้อมทั้งได้ยึดมั่นปฏิบัติสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการ ‘ปลูกป่า สร้างคน’ โดยมุ่ง ‘สร้างคน สร้างความรู้ สร้างคุณภาพ สร้างคุณธรรม และอนุรักษ์ธรรมชาติ’ โดยมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นที่พึ่งทางปัญญาของสังคม สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

โดยเริ่มเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปี 2542 จำนวน 62 คน เริ่มจาก 2 สำนักวิชา โดยประกาศใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอนตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมให้ความสำคัญกับภาษาต่างประเทศอื่นๆ อาทิ ภาษาจีน  ปัจจุบัน มีนักศึกษา จำนวน 13,852 คน ในจำนวนนั้นมีนักศึกษาไทยจากทั่วทุกภูมิภาค มีนักศึกษาต่างชาติ จำนวน 576 คน จากกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง จากอาเซียน จากทวีปต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ หรือแอฟริกา

ปัจจุบัน เปิดสอนทั้งหมด 66 หลักสูตร ประกอบด้วย ประกาศนียบัตร 1 หลักสูตร ปริญญาตรี 36 หลักสูตร ปริญญาโท 18 หลักสูตร และระดับปริญญาเอก 11 หลักสูตร ใน 15 สำนักวิชา การจัดการ นิติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ นวัตกรรมสังคม จีนวิทยา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมเกษตร วิทยาศาสตร์สุขภาพ พยาบาลศาสตร์ เวชศาสตร์ชะลอวัย แพทยศาสตร์ การแพทย์บูรณาการ

ทั้งนี้ หลักสูตรต่างๆ ที่ได้เปิดสอนมาอย่างต่อเนื่องยังได้รับการรับรองหลักสูตรจากองค์กรหรือหน่วยงานระดับสากล เพื่อคุณภาพและอนาคตของบัณฑิต ในสาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการบริการ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบิน สำนักวิชาการจัดการ, สำนักวิชาแพทยศาสตร์ และ สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร เป็นต้น

 

สำหรับความเป็นนานาชาติ มฟล. มีความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานสำคัญในต่างประเทศ มีข้อตกลงและบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จำนวน 123 ฉบับ 94 สถาบันทั่วโลก 25 ประเทศ ทั้งยังมีหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ (Double/Joint Degree) ได้แก่ Hiroshima University ในหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ (Joint Degree) เรียน 2 ปี ที่ละ 1 ปี ได้รับ 1 ปริญญา

Shinshu University ในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (Double Degree) เรียน 2 ปี ที่ละ 1 ปี ได้รับ 2 ปริญญา และ Chiba และนอกจากจำนวนนักศึกษาต่างชาติเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับแล้ว นักศึกษาที่เดินทางออกไปแลกเปลี่ยนในต่างประเทศก็มีจำนวนที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ปีที่ 22 ของ มฟล. ปีนี้ จำนวนผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา (TCAS) ปี 2563 มียอด 114% และมีผู้สำเร็จการศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2545-2562 รวมเป็นจำนวนกว่า 26,000 คน กระจายตัวทำงานอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ด้านการทำงานวิจัย มฟล. มีศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยในด้านต่างๆ อย่าง ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยเชื้อรา ศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ และศูนย์วิจัยเอเชียเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ยังมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเพื่อบริหารจัดการและประสานนโยบายให้กับหน่วยงานวิจัยภายในมหาวิทยาลัย และด้วยมีการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

และด้วยการทำงานด้านวิจัยที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้หน่วยงานวิจัยของ มฟล. ได้ค้นพบเห็ดชนิดใหม่ที่เป็นการค้นพบใหม่ของโลก จำนวน 1 ชนิด คือ เห็ด Auricularia thailandica thailandica Bandara & K.D. Hyde, sp. nov. ซึ่งจัดเป็นเห็ดสกุลเห็ดหูหนู และให้ชื่อวิทยาศาสตร์ ‘thailandica’ เนื่องจากค้นพบในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ภายหลังได้นำมาทดลองเพาะในระดับห้องปฏิบัติการพบว่า สามารถเพาะได้ให้ผลิตผลที่ดีและมีคุณภาพ และถูกจัดให้เป็นเห็ดที่อยู่ในประเภทเห็ดกินได้ ซึ่งจะได้เผยแพร่ให้แก่เกษตรกรไทยต่อไป และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อเห็ดหูหนูชนิดใหม่ของโลกนี้ว่า ‘มุสิกรัตน์’ ทั้งยังได้ค้นพบโปรโตซัวสายพันธุ์ใหม่ เป็นการค้นพบเอนตามีบาในสัตว์ตระกูลปลาไหลครั้งแรกในโลก เติมเต็มองค์ความรู้เรื่องวิวัฒนาการของเอนตามีบา ใช้เอนตามีบาชนิดใหม่นี้ในการศึกษากลไกการเกิดโรค และการรักษาโรคบิดต่อไป

เห็ดหูหนูพันธุ์มุสิกรัตน์

มฟล. มุ่งมั่นในการสร้างความเป็นเลิศทางด้านคุณภาพนักศึกษา การศึกษา ด้านการสอน และหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง มีการส่งเสริม พัฒนา ผู้สอนให้เป็นเลิศ สร้างพื้นที่สำหรับพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบใหม่ โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ เพื่อออกแบบการศึกษาสมัยใหม่ พัฒนากระบวนการและทักษะการเรียนรู้ ถ่ายทอดเทคนิคการจัดการเรียนการสอนสมัยใหม่ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อปรับรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อให้ทันโลกอนาคต

และได้เพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา ด้วย Learning Space ให้แก่อาจารย์ด้วย Learning Innovation Space และสำหรับนักศึกษา อาจารย์ และผู้ประกอบการ ด้วย Networking Space

ทั้งนี้ ในปีนี้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วัดร่องขุ่น และศูนย์วิปัสสนากรรมฐาน ไร่เชิญตะวัน มีแนวคิดร่วมกันในการเสนอจัดให้มีหลักสูตรระยะสั้น ในรูปแบบศาสนาและศิลปะขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้แก่ผู้ที่มีความสนใจศึกษาด้านพุทธศิลปกรรม โดยเน้นให้สร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านสุนทรียศาสตร์ทั้งทฤษฎีและสามารถปฏิบัติ นำหลักการมาปรับใช้ในด้านการบริหารจัดการ การอนุรักษ์ สร้างสรรค์ ตลอดจนเผยแพร่ผลงานพุทธศิลปกรรมให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ที่เตรียมเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษาหน้านี้

ตลอดจนมุ่งขับเคลื่อนศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งประกอบด้วย โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (แพทย์บูรณาการ) และศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรแห่งภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ก้าวสู่การเป็น ‘GMS Medical Hub’ แห่งลุ่มน้ำโขง ต่อไป

สำหรับ 22 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย นอกจากความภูมิใจที่ชาว มฟล. นักศึกษา และบุคลากรทุกคน ได้รับจากผลตอบรับจากสังคม ไม่ว่าจะเป็นจำนวนรับนักศึกษาไทยและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาที่เพิ่มจำนวนขึ้น และได้ออกไปเป็นกำลังสำคัญให้กับสังคมแล้ว ยังมีจากการจัดอับดับมหาวิทยาลัยโลก เรายังเชื่อมั่นว่ารางวัลที่ยิ่งใหญ่นี้ยังสร้างความภาคภูมิใจในฐานะเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยน้องใหม่ขนาดเล็กในระดับภูมิภาคที่สามารถก้าวสู่มหาวิทยาลัยคุณภาพแนวหน้าของโลก รางวัลแห่งคุณภาพนี้ยังขยายผลขับเคลื่อนนำพาซึ่งความเจริญ ทางด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อมของจังหวัดเชียงราย ภาคเหนือตอนบน และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนอีกด้วย และ มฟล. ยังมุ่งมั่น ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนา มฟล. สู่มหาวิทยาลัยระดับโลก