ม.อุบลฯ อบรม ปลูกป่า ปลูกเห็ด 7 ชั่วโคตร สร้างอาชีพเสริมแก่เกษตรกร

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยคณะวิทยาศาสตร์ และคณะบริหารศาสตร์ จัดโครงการบริการวิชาการอบรมเชิงปฏิบัติการ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกป่าปลูกเห็ด 7 ชั่วโคตร โดยการสนับสนุนจาก The Mushroom Initiative เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ในการส่งเสริมการฟื้นฟูป่าชุมชนใน 3 พื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ บ้านโนนงาม อำเภอวารินชำราบ บ้านตู อำเภอกุดข้าวปุ้น และ 3 อบต.ยางขี้นก อำเภอเขื่องใน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลิดา ปุกหุต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย อันพิมพ์ อาจารย์คณะบริหารศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกเห็ดเป็นวิทยากรบรรยายพร้อมนำฝึกปฏิบัติ มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมจำนวนกว่า 90 คน ณ วัดบ้านบ้านโนนงาม และแปลงเรียนรู้เกษตรอินทรีย์คุณพ่อสมพงษ์ เนตรวงศ์ บ้านโนนงาม ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย อันพิมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกเห็ด กล่าวว่า โครงการปลูกป่า ปลูกเห็ด 7 ชั่วโคตร เป็นอีกหนึ่งโครงการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี สนใจในเรื่องของการปลูกป่าและปลูกเห็ด ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ทั้งในด้านการอนุรักษ์ทรัพย์กรป่าไม้ ช่วยกันปลูกป่า และยังใช้ประโยชน์ในการปลูกเห็ดสำหรับรับประทานในครัวเรือน หรือจำหน่ายสร้างรายได้แก่ครอบครัว ซึ่งต้นไม้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเห็ดนั่นเอง การจัดอบรมแบ่งเป็นการให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและนำฝึกปฏิบัติ เรียนรู้วิธีการทำน้ำเชื้อเห็ด อาทิ เห็ดระโงก เห็ดปลวก เห็ดผึ้ง ซึ่งมีการนำไปปลูกที่รากของต้นตระกูลยาง นอกจากนี้ โครงการยังแจกพันธุ์ไม้ต้นยาง คนละ 3 ต้น และแจกน้ำเชื้อเห็ดที่ผสมเสร็จแล้ว เพื่อให้เกษตรกรนำกลับไปปลูกและเพาะเชื้อที่บ้าน ซึ่งจะมีทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงพื้นที่ชุมชนให้คำแนะนำแก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

นับเป็นอีกหนึ่งโครงการทีมนักวิจัย ได้นำองค์ความรู้ถ่ายทอดได้จริงสำหรับเกษตรกร สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ชุมชนและสังคม ซึ่งมหาวิทยาลัยดำเนินการตามพันธกิจมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายที่สำคัญคือการเป็น “มหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน” และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่จะเป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียนที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและนวัตกรรม”