ศาสตร์ภูมิปัญญาไทย โอกาสตีเครื่องตลาดเครื่องสำอางสหรัฐฯ

โดยภาพรวมคือ ตลาดความงามในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง แต่มีจุดน่าสนใจคือสินค้าความงามไทยกลับโตสวนทาง แม้ตัวเลขการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาในกลุ่มความงามไม่มากนัก แต่เมื่อดูเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน สินค้าไทยนับว่ามีโอกาสที่ดี

ตลาดสินค้าเครื่องสำอางในสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา อีกทั้งยังมีแนวโน้มขยายตัวเป็นมูลค่า 1.95 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ย ร้อยละ 5.4 ต่อปี ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ที่รุนแรงในปัจจุบัน คาดว่าน่าจะส่งผลกระทบทำให้ตลาดสินค้าเครื่องสำอางในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง ราวร้อยละ 2.1 เหลือเป็นมูลค่าตลาดทั้งสิ้น 1.66 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ

แต่ในทางกลับกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ไทยกลับเป็นประเทศผู้ส่งออกเพียงไม่กี่ประเทศที่มีสัดส่วนส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยไทยมีสัดส่วนส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.54 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมาเป็นมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น 7.62 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องสำอางมีอัตราการขยายตัวสูงหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมาด้วย

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

ทั้งนี้แม้ว่าแนวโน้มตลาดสินค้าเครื่องสำอางโดยรวมในสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้มีอัตราการขยายตัวลดลง แต่ก็มีสินค้าเพื่อความสวยงามบางกลุ่มกลับได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้าน เช่น ชุดบำรุงผิว และชุดพอกหน้า เป็นต้น

แม้ตัวเลขส่งออกเครื่องสำอางไทยในตลาดสหรัฐจะไม่ได้มากนัก แต่ถือว่ามีแนวโน้มที่ดี โดยมีปัจจัยที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าจะเป็นโอกาสและความท้าทายของเครื่องสำอาจไทยในตลาดสหรัฐฯ คือ

  1. สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน: สหรัฐฯ ได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีน ร้อยละ 25 ซึ่งเป็นผลให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ หนีออกจากจีนและหาแหล่งนำเข้าอื่นมาทดแทน จึงเป็นโอกาสให้ผู้ผลิต/ส่งออกไทยเสนอบริการผลิตสินค้า OEM ให้แก่ผู้นำเข้าสหรัฐฯ
  2. สินค้าเครื่องสำอางไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายในสหรัฐฯ: สินค้ามีมูลค่านำเข้ามาจำหน่ายในระดับต่ำหากเปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน เครื่องสำอางไทยมักจะถูกห้ามนำเข้าด้วยเหตุผลมีการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบหรือการปฏิบัติ ไม่ให้สอดคล้องกับกฎและระเบียบที่กำหนดไว้ในด้านการเติมสีต้องห้าม การใช้ส่วนผสมต้องห้าม ฉลากสินค้าไม่ถูกต้อง และการปนเปื้อนของจุลินทรีย์หรือสิ่งแปลกปลอม รวมไปถึงการอ้างสรรพคุณ

ดังนั้น ในการส่งออกเครื่องสำอางไปสหรัฐฯ ผู้ผลิต/ส่งออกไทยจึงควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับสินค้าเครื่องสำอางของสหรัฐฯ

  1. แบรนด์เครื่องสำอางในสหรัฐฯ มักใช้ Social Media ในการสื่อสาร: ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลและแนะนำสินค้า เพื่อเป็นการชักจูงให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้า ดังนั้น ผู้ผลิต/ส่งออกที่ต้องการจะขายสินค้าแบรนด์ไทย ควรพิจารณาใช้ช่องทาง Social Media ในการแจ้งเกิดแบรนด์เครื่องสำอางไทยในสหรัฐฯ
  2. การใช้กลยุทธ์ Personalization : เป็นการต่อยอดทางการตลาด เพื่อให้การบริการสินค้าให้ตรงจุดกับความต้องการผู้บริโภคแต่ละคนมากที่สุด จึงเป็นกลยุทธ์ที่ควรศึกษาและพิจารณานำไปประยุกต์ด้านการตลาดเครื่องสำอาง

 

การขูดไล่พิษกัวซา สปา ศาสตร์ภูมิปัญญา ตลาดมาแรง

จากข้อมูลการสำรวจตลาดโดย บริษัท Spate ผู้สำรวจแนวโน้มความต้องการผู้บริโภค พบว่านับตั้งแต่ที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ ผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสนใจบริโภคสินค้าเพื่อความสวยงาม 4 กลุ่ม มากขึ้น ได้แก่ สินค้าเสริมความงามด้วยตัวเอง, สินค้าบำรุงสีผมผสมเม็ดสีม่วง (Purple Hair Products), สินค้าเซรั่มบำรุงผิว และสินค้าครีมทาผิวป้องกันแสงสีฟ้า (จากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์)

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากภาวการณ์แพร่ระบาดที่ยังคงรุนแรงในหลายพื้นที่ ประกอบกับแนวโน้มการขยายตัวของกลุ่มสินค้าดังกล่าวในตลาด คาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะสามารถช่วยพยุงตลาดสินค้าเพื่อความสวยความงามในสหรัฐฯ ที่ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบันได้

รายงานดังกล่าวระบุว่า ยอดจำหน่ายกลุ่มสินค้าอุปกรณ์เสริมความงาม (Beauty Tools) ในสหรัฐฯ ขยายตัวสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จนถึงเดือนมิถุนายน 2563 สินค้าเครื่องอบไอน้ำสำหรับผิวหน้า (Facial Steamers) และสินค้าไม้ขูดกัวซา (Gus Sha) มีอัตราการขยายตัวสูง ร้อยละ 70.0 และร้อยละ 33.4 ตามลำดับ

โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยอดจำหน่ายสินค้าของ บริษัท Credo ผู้จำหน่ายปลีกสินค้าเพื่อความสวยความงาม ที่รายงานยอดจำหน่ายของบริษัทนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยพบว่ามียอดจำหน่ายขยายตัวเพิ่มขึ้นสูง ถึงร้อยละ 200 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าไม้ขูดกัวซา รุ่น the Empress Stone ที่จัดจำหน่ายโดยบริษัท Wildling Beauty

โดยศาสตร์การขูดผิวหนังเพื่อถอนพิษ หรือ กัวซา (Gua Sha) เป็นการผสมผสานรากเหง้าทางวัฒนธรรมและศาสตร์การแพทย์เฉพาะทางของจีน ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคในสหรัฐฯ ที่ต้องการดูแลสุขภาพและความสวยความงามมากขึ้น

ความท้าทายของผู้ประกอบการไทย

อย่างไรก็ตาม ตลาดผู้บริโภคทั้งในสหรัฐฯ และตลาดอื่นๆ ทั่วโลกมีการแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรที่จะเตรียมความพร้อม เพื่อปรับตัวและพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าเพื่อความสวยงามส่วนใหญ่ เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการคู่แข่งรายใหญ่ในตลาดสหรัฐฯ จึงมีความได้เปรียบ ทำให้สามารถปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปได้รวดเร็วกว่า อีกทั้งยังสามารถทำได้เกือบจะทันทีด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังควรที่จะศึกษาตลาดและความต้องการของผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แตกต่าง และตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาดต่อไป ทั้งนี้ดูเหมือนว่าปัจจุบันผู้บริโภคชาวอเมริกันจะหันมาให้ความสนใจกับศาสตร์การบำรุงสุขภาพ และความงามจากภายใน โดยเฉพาะศาสตร์จากประเทศทางตะวันออก เช่น การขูดไล่พิษกัวซา การนวดเพื่อกระชับผิว เป็นต้น

โดยประเทศไทยมีศาสตร์แพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาโบราณ และสมุนไพรหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและความสวยงาม ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาเป็นสินค้าส่งออกได้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเพื่อความสวยงายที่ทำได้ด้วยตัวเองที่กำลังเป็นที่นิยม เช่น ครีมสมุนไพร ลูกประคบสมุนไพร น้ำมันนวดผิว และครีมพอกตัว เป็นต้น นอกจากนี้ แนวโน้มความนิยมเครื่องสำอางธรรมชาติ เครื่องสำอางสมุนไพร เครื่องสำอางเพื่อความยั่งยืน (Sustainable) ยังน่าจะเป็นโอกาสในการทำตลาดของผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าเพื่อความสวยงามไทยในสหรัฐฯ ในอนาคตอีกด้วย

 

 

แหล่งอ้างอิง :
สำนักงานการค้าต่างประเทศ สำนักงานไมอามี่
Vouge Business เรื่อง : “The Beauty Trends Customers Are Buying During COVID-19

สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<

ตลาดความงามหลังโควิด-19 จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

กลยุทธ์ Zenn เมกอัพไทยจับนักช้อปจีนโกย 600 ล้าน/ปี   


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333