ติดปีกเกษตรกรไทย ด้วยเครือข่ายและองค์ความรู้ Smart Farmer ผ่านโครงการ Agri BIZ Idol Development Project ยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ

ติดปีกเกษตรกรไทย ด้วยเครือข่ายและองค์ความรู้ Smart Farmer
ผ่านโครงการ Agri BIZ Idol Development Project
ยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ

กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศความสำเร็จ “โครงการพัฒนา Smart Farmer ผู้ประกอบการต้นแบบ เพื่อยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ (Agri BIZ The Idol Development Project)” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กรมส่งเสริมการเกษตรจัดการอบรมในลักษณะนี้ พร้อมมอบใบประกาศนียบัตรและโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ที่ผ่านการอบรม จำนวน 78 คน

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลว่า “สำหรับโครงการพัฒนา Smart Farmer ผู้ประกอบการต้นแบบเพื่อยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ หรือ Agri BIZ Idol Development Project รับสมัครจากเกษตรกรรุ่นใหม่ เกษตรกรต้นแบบ วิสาหกิจชุมชน ผู้จัดการแปลงใหญ่ ผู้ประกอบการเกษตรที่มีศักยภาพ ที่มีความต้องการจะพัฒนาสินค้าเกษตรของตนเองและของกลุ่มจากทั่วประเทศ โดยคัดเลือกจากผู้สมัครจำนวนทั้งสิ้น 137 คน เหลือจำนวน 80 คน และผ่านการอบรม 78 คน แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มผู้ประกอบการเกษตร ได้แก่ กลุ่มเกษตรแปรรูป เพิ่มมูลค่า, เกษตรท่องเที่ยว, วิสาหกิจชุมชน และบริการการเกษตร, เกษตรวิถีอินทรีย์ และกลุ่มเกษตรไฮเทคและอุตสาหกรรม

โดยมีทีมวิทยากรชั้นนำ Coach Agri – biz เช่น คุณกุลพล คุปรัตน์, ดร.ก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์ เป็นต้น และมีเมนเทอร์พี่เลี้ยงมากประสบการณ์แต่ละด้านธุรกิจเกษตรกร ที่ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ประกอบการเกษตร คอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกษตรกรได้พัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ เน้นการจัดทำแผนธุรกิจเกษตรที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม สามารถสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรของตัวเองที่มีอยู่ หรือเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการกิจการ และการตลาดสินค้าเกษตรได้อย่างเหมาะสม

นายเข้มแข็ง ระบุว่า “การขับเคลื่อนความสำเร็จของโครงการนี้มองว่าต้องการพัฒนากลุ่มต้นแบบ และนักพัฒนา เพื่อต่อยอดเกษตรกรไทยให้ก้าวทันยุคสมัย มีการต่อยอดขององค์ความรู้จากวิถีเดิม ทั้งนี้ได้จับมือร่วมกับทุกภาคส่วน และนักวิชาการหลายๆ องค์กร ร่วมผลักดันให้เกษตรกรไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น และก้าวทันวิถีเกษตรยุคใหม่ สำหรับตัวคนต้นแบบทั้ง 78 ท่านนี้ อยากจะเห็นผลิตภัณฑ์ของเขาก้าวไปสู่ระดับโลก ไม่เฉพาะเพียงแค่ในประเทศเท่านั้น โดยจะส่งเสริมผลิตภัณฑ์และการตลาด อยากให้ผลิตภัณฑ์ของประเทศไทย โดยกลุ่มคนที่ผ่านการอบรม และผ่านการขับเคี่ยวจาก Agri – Biz The Idol 2020 อยากเห็นความสำเร็จของคนกลุ่มนี้ที่จะเป็นต้นแบบเกษตรชั้นนำรุ่นใหม่ต่อไปในอนาคต

นายพสิษฐ์ สุขสวัสดิ์ ประธาน Agri-BIZ The Idol 2020 และประธานกลุ่ม G2 เกษตร
แปรรูป เพิ่มมูลค่า 2 รวมทั้งเป็นประธานแปลงใหญ่จังหวัดลำพูน คณะกรรมการแปลงใหญ่ระดับประเทศ ประธานอาสาสมัครเกษตรจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นเกษตรกรสวนลำไย สวนมะม่วง สวนมะยงชิด จากจังหวัดลำพูน เล่าถึงที่มาของธุรกิจให้ฟังว่า “การเชื่อมโยงเครือข่ายและนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ปกติขายลำไยอยู่ที่กิโลละสิบกว่าบาท มาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการขายออนไลน์ ใช้คำว่า “เกษตรปลอดภัย” ขึ้นมา สามารถปรับราคาขึ้นจากเดิมได้ และการแปรรูปจากสิ่งที่มีอยู่ เราเปลี่ยนคำว่า “ลำไย” ที่คนส่วนมากบอกว่าทานแล้วไม่ดีต่อสุขภาพเพราะเจ็บคอ เปลี่ยนเป็น “ลำไยอบแห้งทั้งเปลือก” โดยตอนนี้ประเทศจีน เป็นประเทศที่นำเข้าลำไยอบแห้งจากประเทศไทยจำนวนมากที่สุด กว่า 90%

สำหรับลำไยอบแห้งนั้นมีสรรพคุณทางยาเยอะมาก โดยมีการวิจัยว่าเมล็ดด้านในของลำไยมีสรรพคุณทางยาคือ แก้ปวด แก้เมื่อย การทานลำไยอบแห้ง 3-4 เม็ด ก่อนนอน ตามด้วยการดื่มน้ำอุ่น ทำให้สุขภาพดี ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นชาสำหรับดื่มได้ด้วย เราเพิ่มมูลค่าลำไยจากการทำลำไยอบแห้งขายเองได้ ตอบโจทย์ในช่วงที่มีผลผลิตล้นตลาด ซึ่งการทำลำไยอบแห้งนั้นมีขั้นตอนที่ทำได้ง่าย ชาวบ้านสามารถทำเองได้ จึงอยากผลักดันผลิตภัณฑ์ลำไยอบแห้งทั้งเปลือกนี้ให้คนไทยรู้จักและบริโภคมากขึ้น ผ่านแนวคิดเปลี่ยนจากผลไม้ให้เป็นยา

ด้านมุมมองการต่อยอดธุรกิจ นายพสิษฐ์ กล่าวว่า การต่อยอดในธุรกิจลำไยทำได้ไม่ยาก แต่เราจะนำมาทำต่อโดยให้ถึงมือผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งในช่วงที่เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ผ่านมา นับว่าธุรกิจของตนไม่ได้รับผลกระทบเลย เนื่องจากเน้นการขายออนไลน์ 100% และยังเป็นผู้นำในการขายออนไลน์ของเกษตรกรชาวสวนลำไย ซึ่งโครงการนี้ทำให้เรามีความรู้และเพิ่มพูนศักยภาพ รวมทั้งได้เครือข่ายการตลาดอีกด้วย

นายสิทธิศักดิ์ อัครไพศาล ประธานกลุ่ม G8 เกษตรไฮเทคและอุตสาหกรรม
กล่าวว่า การทำเกษตรผสมผสาน หลักๆ คือ แบ่งพื้นที่ สามารถสร้างรายได้เข้ามาหลายทางจาก
ผักสลัด มัลเบอร์รี่ มะนาว และมีร้านอาหาร แบ่งโซนพื้นที่ตาม “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” ในส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือจะต้องมีรายได้เข้าร้านเพื่อปรับใช้ให้อยู่ได้ในยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่อยู่ในไร่ที่ผลิตเอง นำไปแปรรูปและนำมาขายที่ร้าน หน้าร้านชื่อว่า อัจฉราคาเฟ่ และไร่อัจฉรา Smart Farm จังหวัดลพบุรี

“โดยส่วนตัวรู้สึกภูมิใจมากที่ได้เป็น 1 ใน 80 คน ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมอบรม และเป็น 1 ใน 78 คน ที่ผ่านการอบรมครั้งนี้ ซึ่งรู้สึกว่ายากตั้งแต่กรอกใบสมัคร งานนี้ใช้เวลาในการกรอกใบสมัครนานที่สุด นอกจากกรอกใบสมัครแล้วยังต้องคิดและวิเคราะห์อะไรหลายๆ อย่าง พอเข้ามาเจอเพื่อนๆ ก็รู้สึกภูมิใจที่เป็นหนึ่งในกลุ่มของคนเหล่านี้ เพราะคนเหล่านี้คือผู้นำของชุมชนในแต่ละชุมชน ที่มีความคิดและแนวคิด ในสิ่งที่บางครั้งเรามองไม่ทันเขา พอได้มาพบกับอาจารย์รู้สึกประทับใจในอาจารย์ทุกท่าน อาจารย์ที่มาสอนคือให้แนวทางในสิ่งที่มาจากประสบการณ์ของตัวอาจารย์เอง รู้สึกว่านี้เป็นโครงการที่ดีมากๆ รู้สึกภูมิใจที่ได้เข้ามาอยู่ในโครงการนี้ และโครงการนี้ได้ให้มุมมองที่เรามองข้ามไป รับรู้มุมมองที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยังให้แนวทางในการบริหารธุรกิจ แนวทางในการนำไปต่อยอดเพื่อขยายธุรกิจของเราได้ รวมถึงให้เครือข่าย ให้ Connection ในอนาคต สามารถดึงกลุ่มคนเหล่านี้มาทำโปรเจ็กร่วมกันได้ ต่อยอดเป็นธุรกิจที่มีกำลังมากขึ้นอีกด้วย” นายสิทธิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม