มก.วิจัย ท่อนพันธุ์อ้อยสะอาด มอบเกษตรต้นแบบ 1,000 ตัน

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าว วิธีมอบท่อนพันธุ์อ้อยสะอาดให้กับเกษตรกรต้นแบบที่ประสบปัญหาภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง โดยมีโครงการที่เข้าร่วม 7 แห่ง

ทั้งนี้ การผลิตอ้อยปลอดโรคใบขาวแบบประณีตแนวใหม่ NIP เป็นระบบการผลิตอ้อยที่เน้นคุณภาพ สะอาด  อาศัยกรอบแนวคิดจากหลักการ “เพิ่มจากลด” (more with less) ของระบบ Sustainable Sugarcane Initiative (SSI) (ICRISAT-WWF Project, 2009) เป็นพื้นฐานเพื่อพัฒนา โดยยึดหลัก “เพิ่มจากลด” คือ การผลิตแบบประณีตจะเพิ่มในสิ่งที่เป็นประโยชน์และลดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดทั้งปริมาณและคุณภาพ ซึ่งจะช่วยให้การผลิตอ้อยของเกษตรกรไทยได้กำไรเพิ่มจากผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพดีและปริมาณสูง จากการลดการเกิดโรค ลดจำนวนท่อนพันธุ์ปลูก ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนกำจัดศัตรูพืช เพิ่มระยะเวลาในการไว้ตอได้นานขึ้น เพิ่มกำไรในการปลูกอ้อยต่อครั้ง และสุดท้ายจะเป็นการเพิ่มความยั่งยืนในการปลูกอ้อยของ อุดมศักดิ์ และคณะ, 2560 ได้รายงานว่าการผลิตท่อนพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวแบบประณีตแนวใหม่ในสภาพโรงเรือนอนุบาลและแปลงปลูก โดยใช้เทคนิคการกำจัดเชื้อโรคใบขาวด้วยยาปฎิชีวนะร้อนมีประสิทธิภาพในการช่วยกำจัดเชื้อโรคใบขาวที่ติดมากับท่อนพันธุ์ เป็นวิธีการที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้ไม่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายในการทำไม่แพง ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การกำจัดเชื้อที่ติดมากับท่อนพันธุ์ด้วยการแช่ในยาปฏิชีวนะร้อน 2) เพาะกล้าในโรงเรือนป้องกันแมลงพาหะ  3) แปลงปลูกกล้าพันธุ์หลัก ปลอดโรคที่มีการจัดการแปลงและแมลงพาหะที่ดี  ทั้งนี้ในระบบการผลิตจะมีการสุ่มตรวจเชื้อสาเหตุโรคใบขาวในกล้าอ้อยอย่างสม่ำเสมอ

ทางคณะนักวิจัย ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เริ่มต้นในปีงบประมาณ 2559 เรื่อง “การขยายผลเทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาว” ต่อมาในปี 2560 เรื่อง “การจัดทำแปลงพันธุ์ขยายอ้อยปลอดโรคใบขาว” ปีงบประมาณ 2562 เรื่อง “การส่งเสริมและติดตามเทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวแบบประณีตแนวใหม่สำหรับเกษตรกร”จนถึงปัจจุบัน โครงการเรื่องการพัฒนาและผลิตท่อนพันธุ์สะอาดนำร่องเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้ดำเนินการผลิตต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคโดยใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและปัจจุบันได้มีการนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออ้อยปลอดโรคใบขาว การขยายพันธุ์อ้อยในเชิงอุตสาหกรรมด้วยระบบไบโอรีแอคเตอร์ การอนุบาลต้นกล้าในระบบโรงเรือนกันแมลงการพัฒนาเทคนิคที่มีความไวสูง (sensitivity) เป็นต้น

ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งจากปี 2561 ทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงจาก 128 ล้านตัน เป็น 75 ล้านตัน (รายงานสถานการณ์ปลูกอ้อยปีผลผลิต 2562/63) ทำให้ขาดแคลนท่อนพันธุ์สะอาดในการเพาะปลูก ทางสำนักวิจัยแห่งชาติ เล็งเห็นปัญหาเร่งด่วน ได้อนุมัติโครงการวิจัย ซึ่งดำเนินการโดย ผศ.ดร.ธนพล ไชยแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อแจกจ่ายท่อนพันธุ์สะอาดที่ได้จากโครงการวิจัยที่ดำเนินงานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน  ซึ่งโครงการนำร่องผลิตต้นพันธุ์อ้อยสะอาดนี้ ได้ผลิตท่อนพันธุ์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เนื่องจากภาวการณ์ขาดแคลนท่อนพันธุ์ โดยขยายพันธุ์อ้อยแบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และท่อนพันธุ์สะอาดปราศจากโรคเพื่อใช้เป็นท่อนพันธุ์สำหรับพื้นที่ปลูกอ้อยที่สำคัญของประเทศไทย และจัดโครงการมอบพันธุ์อ้อยสะอาดให้กับเกษตรกรต้นแบบที่ประสบปัญหาภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง โดยช่วงแรกจะมอบท่อนพันธุ์จำนวนทั้งสิ้น 1,000 ตัน มีโรงงานที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 7 โรงงานคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 3 โรงงานคือ โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์, โรงงานน้ำตาลวังขนาย(มหาวัง) จังหวัดมหาสารคาม และโรงงานไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม (สกลนคร) จังหวัดสกลนคร ภาคเหนือ จำนวน 2 โรงงาน คือ โรงงานเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น สาขา 3 (รวมผล) จังหวัดนครสวรรค์ และโรงงานน้ำตาลนครเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ภาคกลาง จำนวน 2 โรงงาน คือโรงงานน้ำตาลลลพบุรี (สระโบสถ์) จังหวัดลพบุรี และโรงงานน้ำตาลรีไฟน์ชัยมงคล (อู่ทอง) จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อนำท่อนพันธุ์อ้อยดังกล่าว ไปแจกจ่ายสู่เกษตรกรใช้ปลูกเป็นแปลงพันธุ์ เพื่อใช้ทดแทนอ้อยเป็นโรคและลดพื้นที่การระบาดในฤดูการผลิต 64/65 โดยพันธุ์อ้อยที่นำมาแจกมีพันธุ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Kps01-12 และทองผาภูมิ 6) ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (LK92-11) และกรมวิชาการเกษตร (ขอนแก่น 3) โดยโรงงานน้ำตาลให้การสนับสนุนในการติดต่อเกษตรกรต้นแบบรวมถึงการประสานงานเพื่อกระจายท่อนพันธุ์ไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย