คึกคัก! เสวนาออนไลน์ ‘เกษตรสร้างคุณค่า’ วันสุดท้าย เฟ้นหาผู้ชนะจากกิจกรรม “Agri – Challenge Case Competition” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 2.2 แสนบาท

จัดต่อเนื่องเป็นวันสุดท้ายแล้วสำหรับงานเสวนาออนไลน์ “เกษตรสร้างคุณค่า : Thailand Agricultural Online Forum” ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 – 24 มกราคม 2564 โดยบริษัทไทยเซ็นทรัลร่วมกับธนาคารกรุงเทพ และสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ที่ระดมนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีประสบการณ์ด้านการเกษตรมาร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรไทย ตลอดจน โดยมุ่งหวังที่จะยกระดับภาคการเกษตรของประเทศไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล

โดยวันสุดท้ายของงานฯ เริ่มด้วยการเสวนา ในหัวข้อ “ภาพรวมอุตสาหกรรมปุ๋ยและเคมีเกษตร”โดยมี คุณวชิรศักดิ์ อรรจนานนท์ ผู้แทนจากสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เผยว่า “ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยประมาณ 5 ล้านตัน/ปี เนื่องจากประเทศไทยพบสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมีในปริมาณที่น้อยมากและมีโรงงานผลิตสารตั้งต้นของปุ๋ยเคมีเพียง 1 โรงงาน เท่านั้น โดยระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจการเกษตรถือว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมด้านอื่น แต่ยังคงมียอดขายผลผลิตที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากยังไม่สามารถส่งออกสินค้าและพืชผลทางการเกษตรไปยังต่างประเทศได้เหมือนปกติ ประกอบกับสมาคมมีความต้องการที่จะยกระดับมาตรฐานภาคการเกษตรของไทยให้ก้าวสู่ระดับโลก”

ทั้งนี้ ทางสมาคมจึงริเริ่มโครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรให้ปลอดภัยและได้มาตรฐานตามระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) ด้วยการขับเคลื่อนงานส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร ให้เกิดการพัฒนาระบบการผลิตภาคการเกษตรที่มีความปลอดภัย สินค้าเกษตรมีคุณภาพ ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความยั่งยืนในภาคการเกษตรของประเทศไทย ในรูปแบบของการให้ความรู้ ตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยเคมีที่จำหน่ายในท้องตลาด เพื่อปลูกฝังความเชื่อที่ว่า “ปุ๋ยเคมีเปรียบเสมือนอาหารของพืช มิใช่สารพิษแต่อย่างใด” ถ้าหากใช้เพียงแต่พอดี

นายวชิรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “วันนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่ต้องมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อนภาคการเกษตรกรรมในทุกมิติ ตัวของเกษตรกรเองต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวเข้าสู่อีกขั้นของภาคการเกษตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อพัฒนาผลผลิตด้านการเกษตรให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และเป็นที่ต้องการของตลาดต่อไปในอนาคต” ต่อด้วยการเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร : ต่อยอดการปั้นแบรนด์ธุรกิจอาหาร การเกษตร และท่องเที่ยวชุมชน” ไปกับเจ้าของ “ขาบ สตูดิโอ” อันโด่งดัง คุณสุทธิพงษ์ สุริยะ ที่จะมาพูดถึงการสร้างแบรนด์สินค้าภาคการเกษตรให้เป็นที่จดจำของคนทั่วโลก โดยคุณสุทธิพงษ์ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ผ่านงานเสวนาออนไลน์ในครั้งนี้ว่า “แบรนด์ คือภาพลักษณ์และชื่อเสียงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าภาคการเกษตรเป็นที่จดจำของกลุ่มเป้าหมาย โดยถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของภาพการโฆษณาสินค้าที่ต้องสื่อในเรื่องของอารมณ์สินค้าเป็นหลัก เพื่อสร้าง First Impression หรือความประทับใจแรกให้แก่กลุ่มเป้าหมายโดยผ่านการจัดองค์ประกอบของสื่อโฆษณา โทนสี หรือสโลแกนที่สั้น กระชับ ได้ใจความและสะท้อนความเป็นสินค้านั้นๆ มากที่สุด

ปัญหาที่พบมากคือ เกษตรกรต้องการสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตนเอง แต่ไม่มีงบประมาณ ณ ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวกระโดดไปไกลไปมาก เพียงแค่เรามีสมาร์ทโฟนและใช้งานโซเชียลมีเดียได้อย่างคล่องแคล่ว เพียงเท่านี้ก็สามารถสร้างแบรนด์ของสินค้าและสร้างสตอรี่ของแบรนด์สินค้าได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องใช้งบประมาณใดๆ แม้แต่น้อย ประการสำคัญคือ 1.ต้องชูเอกลักษณ์ 2.ชูความเป็นท้องถิ่น 3.ดีไซน์สวยงาม 4.ความยั่งยืนของสินค้า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัย 4 ที่สำคัญในการสร้างแบรนด์สินค้าภาคการเกษตรให้ดูเลอค่า เพื่อส่งออกสินค้าภาคการเกษตรไปสู่ระดับสากลได้

“ภาครัฐและเอกชนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ามาสนับสนุนเรื่องงบประมาณ เทคโนโลยี ตลอดจนด้านการตลาด ผลักดันให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการรายย่อยควบคู่กับภาคการผลิต รวมถึงหาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือภาคการเกษตรให้ก้าวสู่ระดับโลก เพราะว่าสุดท้ายแล้วความงดงามและความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่กล้าที่จะปฏิเสธอย่างแน่นอน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับกิจกรรมในช่วงบ่าย จะเป็นการแข่งขัน “Agri – Challenge Case Competition” รอบชิงชนะเลิศของผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 4 ทีม ซึ่งผ่านการแข่งขันรอบคัดเลือกแล้วจากทั่วประเทศ จะมาประชันไอเดีย ในหัวข้อ “ความท้าทายของการผลิตข้าวในเขตทุ่งกุลาร้องไห้” ซึ่งเป็นการแข่งขันวิเคราะห์และเสนอแนวคิดเพื่อตอบโจทย์ปัญหาด้านการเกษตร ระดับมหาวิทยาลัย ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 220,000 แสนบาท และได้รับเกียรติจากนักวิชาการและกูรูผู้มากประสบการณ์ด้านการเกษตร รวมทั้งสิ้น 5 ท่าน ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินการแข่งขันในครั้งนี้ โดยให้เวลาในการนำเสนอแนวคิดทีมละไม่เกิน 20 นาที

กิจกรรมการสำเสนอโมเดลแก้ปัญหาของแต่ละทีมเป็นไปอย่างเข้มข้น แต่ละทีมมีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นของตัวเองอย่างชัดเจน แต่ทีมที่สามารถนำเสนอโมเดลการแก้ไขปัญหาจนสามารถโกยคะแนนจากคณะกรรมการจนได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 1 คือ ทีม “รากใหม่” โดยทีมนี้มีจุดเด่นที่นำเสนอโมเดลการแก้ไขปัญหาโดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีผสานเข้ากับวิธีการเกษตรในปัจจุบัน อีกทั้งสามารถตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด จึงคว้าชัยชนะในการแข่งขันครั้งนี้ไปได้ พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท, ส่วนรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม “Winner” พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท, รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม “Fruit Fit for Fight!” พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท และรองชนะเลิศ อันดับ 3 ได้แก่ ทีม “Black Tea Soda” พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีรางวัล Popular Vote โดยนับจากยอดไลก์และยอดแชร์สูงสุด ซึ่งได้แก่ ทีม “รากใหม่” พร้อมเงินรางวัลอีก 20,000 บาท

ทั้งนี้ งาน “เกษตรสร้างคุณค่า : Thailand Agricultural Online Forum” เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งเปรียบเสมือนฟันเฟืองอีกหนึ่งชิ้นในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน