เกษตรปราจีนฯ เดินหน้ารณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น แนะปรับเปลี่ยนวิธีการอื่น

เมื่อเร็วๆ นี้ นายกิตติพงษ์ งามจริง เกษตรจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรีและสำนักงานเกษตรอำเภอ ร่วมงาน “รณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา” โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ปี 2564 ณ แปลงสาธิต ตำบลเกาะลอย อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจัดโดยความร่วมมือของสำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี และสำนักงานเกษตรอำเภอประจันตคาม โดยได้รับเกียรติจาก นายปิยะ สมัครพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เป็นประธานเปิดงาน นายกิตติพงษ์ งามจริง เกษตรจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวรายงาน พร้อมกันนี้ เกษตรกรได้กล่าวคําสัตย์ปฏิญาณพร้อมกัน “ขอสัญญาว่า จะลด ละ เลิก การเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุ ทางการเกษตร เพื่อให้มีอากาศดี สุขภาพดี ดินดี สิ่งแวดล้อมดี และเกิดรายได้ที่ดีตลอดไป ไชโย ไชโย ไชโย”

ซึ่งการรณรงค์ลดการเผาในพื้นที่เกษตร เป็นการสร้างเสริมองค์ความรู้ และจิตสำนึกของเกษตรกรให้ตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบจากการเผาในพื้นที่เกษตร รวมถึงเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเกษตรกร เพื่อให้สามารถลดปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยีทดแทนการเผา และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถทำการเกษตรอย่างยั่งยืน

จากข้อมูลดาวเทียมของ GISDA พบว่า ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี มีจุดความร้อนหรือ hotspot เกิดในพื้นที่ทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจุดความร้อนที่เกิดขึ้นกับพื้นที่การเพาะปลูกพืช ปรากฏว่าตรงกับพื้นที่การปลูกข้าวและอ้อย ซึ่งจากข้อมูลสถิติการเกษตรของจังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 400,000 ไร่ พื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 15,000 ไร่ ทั้งนี้ จากการสำรวจพื้นที่จุด hotspot ในพื้นที่นาข้าวปรากฏว่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวน้ำลึก ซึ่งผู้ประกอบการรถอัดฟางไม่นิยมอัดฟางในพื้นที่ โดยมีปัจจัยมาจากหลายสาเหตุ เช่น เครื่องจักรชำรุดง่าย ฟางมีลักษณะแข็ง ไม่นิยมนำไปทำอาหารสัตว์ และถึงแม้จะมีการอัดฟางแต่ยังมีส่วนของตอซังซึ่งล้มอยู่ในแปลงนาจำนวนมาก ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวน้ำลึกจะเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม และเตรียมดินเพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไปช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน โดยช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีน้ำในพื้นที่จึงนิยมใช้วิธีการเผาเพื่อกำจัดตอซัง มิฉะนั้นจะไม่สามารถไถแปลงนาได้

จากการดำเนินงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี มีการจัดเวทีชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหา ดังกล่าว โดยมีข้อเสนอหลายประการ เช่น

– การใช้เครื่องจักรไถพรวนชนิดผาล 3 ในช่วงเวลาที่เหมาะสมและควรมีงบประมาณในการสนับสนุนเนื่องจากการไถผาล 3 มีต้นทุนสูง

– ให้ชุมชนกำหนดมาตรการเผาโดยต้องมีการแจ้งผู้นำชุมชนและจัดชุดป้องกันการลุกลาม

– ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการเพาะปลูกข้าวนาปีไปเป็นนาปรัง ทั้งนี้ ต้องมีการสนับสนุนเรื่องระบบชลประทาน

– เสนอให้ภาคเอกชนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฟางข้าวให้เกิดประโยชน์ เช่น กระดาษจากฟางข้าว กระดาษลดโลกร้อน

– เสนอให้วิจัยเทคโนโลยีการเก็บตอซังจากข้าวน้ำลึก

ทั้งนี้ จังหวัดปราจีนบุรี จะนำข้อเสนอของเกษตรกรจากเวทีชุมชนไปดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรต่อไป สำหรับการจัดงานรณรงค์ในครั้งนี้ ได้นำข้อเสนอเรื่องของการใช้เทคโนโลยีการไถผาล 3 มาสาธิตให้เกษตรกรได้เห็นและเป็นแปลงตัวอย่างสำหรับการนำไปใช้ในแปลงของตนเองต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจากกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี