ม. มหิดล พลิกฟื้นชุมชน พึ่งตนเองด้วยเกษตรอินทรีย์ สร้างแหล่งอาหารปลอดภัย COVID-19

หนึ่งในเสาหลักของการประเมินระดับความมั่นคงทางอาหาร (Pillars of Food Security) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือ การเข้าถึงแหล่งอาหาร (Food Access) ซึ่งการเข้าถึงอาหารเพื่อการดำรงชีพโดยที่ชุมชนสามารถผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงดูตนเองได้ ถือเป็นปัจจัยที่ยั่งยืนที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ประชาชนต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่าง และหลีกเลี่ยงการเดินทาง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายและติดเชื้อ

ด้วยเจตจำนงที่จะให้ชุมชนได้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยไว้บริโภค และสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามศาสตร์ของพระราชา โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ริเริ่มโครงการ “MUNA SMART FARM” ขึ้น

โดย อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงที่มาของโครงการว่าเกิดขึ้นจากภารกิจหลัก คือ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเกษตรกรปราชญ์เปรื่อง โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากนี้ ยังได้ขยายผลสู่ชุมชนให้ได้เรียนรู้และทดลองทำการเกษตรอินทรีย์ โดยโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่าย และเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการเกษตร วางแผนการตลาด พร้อมทั้งให้การรับรองผลิตผลของชุมชนที่ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภายใต้เครื่องหมายที่ได้รับการจดสิทธิบัตร “MU ORGANIC”

อาจารย์แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ ได้กล่าวถึงหนึ่งในผลผลิตทางการเกษตรของโครงการ “MUNA SMART FARM” ที่ทางวิทยาเขตนครสวรรค์ภาคภูมิใจ นอกจากข้าว พืชผักอินทรีย์ ฯลฯ คือ “ไข่ไก่อารมณ์ดี” ซึ่งเป็นไข่ที่ได้จากแม่ไก่ที่เลี้ยงปล่อยแบบอิสระตามธรรมชาติ

โดยไข่จะมีสีแดงและมีกลิ่นหอมของใบเตย จากการเลี้ยงด้วยอาหารที่ผสมใบเตย และที่สำคัญคือปลอดจากสารเคมี ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำมาจำหน่ายทั้งภายในวิทยาเขต และชุมชนนครสวรรค์ เป็นอาหารปลอดภัยที่ไม่ต้องเดินทางออกไปหาซื้อจากภายนอกชุมชนให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19

นอกจากนี้ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งนอกจากการให้ความรู้ทางด้านการเกษตร และการบริหารจัดการแล้ว ยังได้ช่วยเหลือประสานงานขอทุนต่างๆ มาสนับสนุนการดำเนินงานโครงการของชุมชน ซึ่งรวมถึงกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนในชุมชนให้ได้มีวัตถุดิบในการทำอาหารปลอดภัยให้กับเด็กนักเรียนได้บริโภคอีกด้วย

เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนให้กับประเทศชาติ นอกจากหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเกษตรกรปราชญ์เปรื่อง โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์แล้ว มหาวิทยาลัยมหิดลยังได้จัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการเกษตรในอีก 2 วิทยาเขต คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยมหิดล www.mahidol.ac.th Facebook: Mahidol University