สศก. จับมือภาคี สวก. และ ม.หอการค้าไทย เดินหน้าจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษของประเทศ ชู กลยุทธ์ 9 P สู่ความสำเร็จ พร้อม Kick Off เมษายน 2564

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ (Special Agricultural Economic Zone: SAEZ) ที่ สศก. ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษา ภายใต้ความร่วมมือและสนับสนุนงบประมาณของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาหลักที่จะร่วมดำเนินการศึกษาวิจัยร่วมกัน โดยจะเน้นการพัฒนาในเชิงพื้นที่เพื่อนำไปสู่การให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 สศก. ได้มีการประชุมหารือ เพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการร่วมกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สวก. ซึ่งมี ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร และ นางนวรถ ปะรักมะสิทธิ์ โดยได้กำหนดกรอบแนวคิดในการดำเนินงานขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ หวังสร้างพื้นที่เขตเศรษฐกิจต้นแบบ ที่สามารถสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร ซึ่งนอกจากพัฒนาสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต หรือ Supply chain ของสินค้าเกษตรแล้ว กระบวนการในการศึกษาในครั้งนี้ จะมองภาพ อุปสงค์ ความต้องการสินค้าเกษตร หรือ Demand ในระดับปลายน้ำ และย้อนมาสู่การพัฒนาอุปทาน ผลผลิตสินค้าเกษตร หรือ Supply ในระดับต้นน้ำ โดยในเดือนเมษายน 2564 สศก. จะมีการลงนามในสัญญาเพื่อศึกษาวิจัยร่วมกันกับ สวก. ซึ่งจะเป็นการ Kick off เริ่มต้นกระบวนการการศึกษาวิจัยร่วมกันอย่างเป็นทางการ

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร

ด้าน ดร.สุกัลยา กาเซ็ม ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมสร้างนวัตกรรมด้านวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเสริมว่า สำหรับการศึกษาวิจัยดังกล่าว จะดึงโมเดลต้นแบบจากพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor : EEC ในการศึกษาและจัดทำโมเดลต้นแบบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษในพื้นที่และสินค้าที่สำคัญ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การบริหารจัดการแรงงาน และการให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จหรือ One Stop Service  ตลอดจนด้านเศรษฐศาสตร์ ด้วยเป้าหมายสินค้าเกษตรเศรษฐกิจ อาทิ ข้าว ยางพารา และ มันสำปะหลัง ด้วยกลยุทธ์แนวคิดองค์ประกอบหลัก “9 P” ได้แก่

Problem การสังเคราะห์ปัญหาเพื่อตอบโจทย์ Place พื้นที่ที่เหมาะสมในการกำหนดโมเดลต้นแบบ Product สินค้าเกษตรที่จะขับเคลื่อนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ Premium Value การสร้างมูลค่าและสร้างรายได้เป็นพิเศษ Proximity Value ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบให้เกิดการรวมกันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ทรัพยากรต่างๆ Privilege สิทธิพิเศษที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้รับ Preemptive Right สิทธิของคนที่อยู่เดิมในพื้นที่ต้นแบบจะได้รับ Public-Private-People Partnership การสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน และ Policy นโยบาย มาตรการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบโจทย์ประเด็นต่างๆ ให้สามารถขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ ได้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

ดร.สุกัลยา กาเซ็ม

ทั้งนี้ การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ จะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติคือ จัดพื้นที่ที่เหมาะสม จัดสินค้าให้เหมาะสมกับพื้นที่ และเกษตรกรหรือคนเป็นผู้ผลิตสินค้าต้องสามารถทำได้จริง โดยปัจจุบันมีการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ 2 แบบ คือ เขตเกษตรเศรษฐกิจรายสินค้า (Commodities Approach) ตามเป้าหมายของการผลิต ซึ่งพิจารณาจากพื้นที่ที่มีศักยภาพ แบบรายอำเภอ และตำบลตามพื้นที่ปลูกจริง จากข้อมูลดาวเทียม และการสำรวจภาคสนาม และการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจตามศักยภาพการผลิตของพื้นที่ (Area Approach) ในขั้นตอนนี้เป็นการนำเขตเกษตรเศรษฐกิจเป็นรายสินค้ามาซ้อนทับกัน จะทำให้ทราบถึงศักยภาพของพื้นที่ ว่ามีความเหมาะสมในการผลิตสินค้าชนิดใดได้บ้าง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับเกษตรกรเลือกว่าควรจะผลิตพืชชนิดใด ที่มีความเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ตัวเอง ตรงตามความต้องการของตลาด ดังนั้น หลักการสำคัญของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมให้ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยความพร้อมของปัจจัยหลัก 3 ด้านในการขับเคลื่อน ได้แก่ 1. การบริหารจัดการพื้นที่และทรัพยากรที่เหมาะสม 2. ผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด และ 3. มีบุคลากรด้านการเกษตร ทั้งเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ ที่จะทำหน้าที่บริหารจัดการการผลิตทางการเกษตรทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง