ราชมงคลสุวรรณภูมิ จับมือ 10 บริษัท พัฒนาวิชาชีพขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) เปิดศูนย์พัฒนาวิชาชีพ ณ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.สุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งศูนย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการฝึกอบรมด้านวิชาชีพและการศึกษา สู่ความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบสนองนโยบายรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ Value-Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เดชา พลเสน คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.สุวรรณภูมิ กล่าวว่า ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาวิชาชีพขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการฝึกอบรมด้านวิชาชีพและการศึกษา ในการพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพ ส่งเสริมงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมบริการวิชาการด้านวิชาชีพและการศึกษากับภาครัฐบาล เอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่าง คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.สุวรรณภูมิ กับ 10 บริษัท ได้แก่ บริษัท ยูเอสอี ไฟล-ไลน์ จำกัด บริษัท จีเนียส โค้ชชิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท แดนฟอส์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ที.เอ็น. เมตัลเวิร์ค จำกัด Festo Dicactic SE บริษัท สยามโคโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท พี.เค.ไฟน์เท็ค จำกัด บริษัท เน็กซ์ เจนคอนซัลแทนท์ จำกัด บริษัท เอ็น ยู ดี ฟลูอิดเพาเวอร์ จำกัด และบริษัท สยาม เอเบิ้ล อินโนเวชั่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ร่วมมือกันพัฒนาสนับสนุนงานด้านวิชาการ วิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม การจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work-integrated Learning) ระบบสหกิจศึกษา (Co-operative education) และฝึกงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานอุตสาหกรรมคือ การเปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ที่เน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่ภาคบริการมากขึ้น โดยมีการพัฒนาหลายๆ ด้าน เช่น ด้านพัฒนาสื่อการสอนวิชาชีพและเทคโนโลยี เทคโนโลยียานยนต์ ระบบอัตโนมัติและแขนกล ไฮดรอลิกเครื่องจักรกลและอุตสาหกรรม การผลิตชิ้นส่วน การออกแบบและจำลองทางวิศวกรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและสอดรับนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2570 ที่กล่าวถึงการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศอย่างเป็นระบบ ผ่านแพลตฟอร์ม 4 แพลตฟอร์ม คือ การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ การวิจัย และสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน รวมทั้งการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อันนำไปสู่การพัฒนาสังคมตลอดจนประเทศชาติให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต