กรมหม่อนไหมเดินหน้าสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียนและชุมชน

กรมหม่อนไหมสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียนและชุมชน เดินหน้าส่งเสริม พัฒนาอาชีพและปลูกฝังการอนุรักษ์ภูมิปัญญาหม่อนไหมให้กับเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น 189 โรงเรียน และทายาทเกษตรกรอีก 30 ชุมชน

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน เด็กและเยาวชนของประเทศไทยในบางพื้นที่ ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษา อาจเนื่องมาจากข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและสังคมหลายประการ เช่น ความยากจน หรือมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ส่งผลทำให้ไม่สามารถได้รับสวัสดิการจากภาครัฐได้อย่างทั่วถึง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระราชดำริในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน ประชาชนในถิ่นทุรกันดารและผู้ด้อยโอกาส ทรงยึดการดำเนินงานโดยให้คนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ การพัฒนา และใช้โรงเรียนเป็นฐานของการพัฒนาให้ครอบคลุมมิติต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและยังประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างสมดุล

กรมหม่อนไหมได้สนองพระราชดำริในพระองค์ ด้วยการริเริ่มโครงการสร้างทายาทหม่อนไหม ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ซึ่งนอกจากจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพคนแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริม พัฒนา และสืบทอดอาชีพด้านหม่อนไหมให้กับเยาวชนรุ่นหลังอีกทางหนึ่งด้วย โดยกรมได้ดำเนินการจัดกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ ทั้งในโรงเรียนและชุมชน ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิตต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

เช่น การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม การฟอกย้อมสีเส้นไหม การทอผ้า การออกแบบลวดลายผ้า ไปจนถึงคือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกระดับ ผ่านวิธีการสื่อสารที่เข้าใจง่าย เพื่อเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และเพิ่มโอกาสช่องทางในการสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพด้านหม่อนไหม ที่สามารถสร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับครอบครัวและชุมชนได้

ซึ่งจากผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน (ปี 2564) มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว รวมทั้งสิ้น 189 โรงเรียน เป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 114 โรงเรียน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 67 โรงเรียน และโรงเรียนในสังกัดอื่นๆ 8 โรงเรียน รวมถึงขยายผลไปยังชุมชนอีกกว่า 30 ชุมชน

“การสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียนและชุมชนนั้น นอกจากจะทำให้เด็กนักเรียน เยาวชนในโรงเรียนและชุมชน มีองค์ความรู้และทักษะในงานด้านหม่อนไหม สามารถนำมาใช้ประกอบอาชีพ เป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกที่สร้างรายได้ระหว่างเรียน หรือยึดเป็นอาชีพหลักที่มั่นคงหลังจบการศึกษา สามารถพึ่งพาตนเองได้แล้ว ยังนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยขับเคลื่อนในมิติด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญาหม่อนไหม ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ร่วมสืบทอดและซึมซับความงดงามทางวัฒนธรรม จากบรรพบุรุษส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป” อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว