มทร.สุวรรณภูมิ คว้ารางวัลชนะเลิศสุดยอดทีมภาคกลาง U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยเอก ดร.ธนู ทดแทนคุณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ เปิดผยว่า โครงการ U2T เป็นโครงการที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยดำเนินการสร้างการมีงานทำในช่วง COVID-19 ของลูกหลานในชุมชนต่างๆ กว่า 60,000 คน ใน 3,000 ตำบล ในความดูแลของ 76 มหาวิทยาลัย ตนเองในฐานะประธานอำนวยการระดับคณะ ได้วางแผนให้อาจารย์ที่ลงชุมชนไปได้ออกแบบแนวทางการพัฒนาชุมชน ซึ่งจากการวางแผนนั้น มองเห็นอย่างชัดเจนว่าชุมชนต้นตาลที่ฐานของทรัพยากรชุมชนที่ดี มองเห็นโอกาสในการพัฒนาสูง อีกทั้งอาจารย์ยังเข้าไปช่วยสร้างความเข้าใจกับชุมชน ทำให้ได้รับความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง

ในขณะที่ อาจารย์ธง คำเกิด สาขาวิชาการท่องเที่ยว ประธานดำเนินโครงการ กล่าวว่า เดิมชุมชนมีทุนทรัพยากรที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ความท้าทายใหม่คือความยากจนและสถานการณ์ของ COVID-19 การท่องเที่ยวซบเซาลงไป ตนเองและทีมงานจึงเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงจัดทำแผนวางเป้าหมายร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐ พร้อมทั้งผู้ประกอบการ พัฒนาชุมชนแบบสถานการณ์ปกติใหม่ (New Normal) ส่งไปยังหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้มีตลาดรองรับนอกเหนือจากตลาดท่องเที่ยว การพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับการท่องเที่ยวหลัง COVID-19 เพิ่มช่องทางใหม่ๆ ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ที่สำคัญคือการพัฒนาคนในชุมชนให้เป็นบุคลากรที่มีศักยภาพในการให้บริการการท่องเที่ยวโดยชุมชน การใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับความสนใจจากชุมชนอย่างมาก จึงเป็นผลให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าและมีประสิทธิภาพ และอีกหนึ่งแห่งความภาคภูมิใจในการดำเนินงานด้านการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นกลไกขับเคลื่อน ระหว่างดำเนินโครงการ กระทรวง อว.ได้จัดกิจกรรม แฮกกาธอน (U2T Hackathon 2021) ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) มทร.สุวรรณภูมิ ขึ้น จึงได้นำชุมชนเข้าร่วมการแข่งขัน เป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานในชุมชนในด้านการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นกลไกขับเคลื่อน ภายใต้ชื่อทีม หัตถสานบ้านต้นตาลสุ่มปลายักษ์ ร่วมกับอีกกว่า 100 ทีมในภาคกลาง ส่งผลให้ได้รับรางวัลสุดยอดทีมชนะเลิศภาคกลาง เพื่อแข่งขันระดับประเทศ ร่วมกับอีก 4 ทีม

ด้าน นางสาวนันทวัน จินดาอินทร์ หัวหน้าทีม ซึ่งเป็นตัวแทนชุมชน กล่าวว่า “คณะศิลปศาสตร์เข้ามาช่วยเหลือชุมชนตอนกำลังวิกฤต เข้ามาดูแลการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่และคนในชุมชนให้มีงานทำมากกว่า 20 ตำแหน่ง แต่สิ่งที่ได้รับมากกว่านั้น คือการที่ชุมชนได้รับประโยชน์จากการที่คณะศิลปศาสตร์เข้ามาแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาการท่องเที่ยวของชุมชน ที่ขาดรายได้ลงไปให้มีช่องทางการตลาดที่สร้างรายได้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน อีกทั้งยังช่วยให้ความรู้ชาวบ้านด้านการท่องเที่ยว ดึงภาคเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้เกิดเป็นการบูรณาการร่วมกันที่เข้มแข็ง”