กรมฝนหลวงฯ น้อมนำ “ตำราฝนหลวงพระราชทาน” สู่ปฏิบัติการภารกิจฝนหลวง ช่วยบรรเทาทุกข์ประชาชน พร้อมเปิดให้เกษตรและประชาชนขอรับบริการฝนหลวงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงฯได้น้อมนำตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการปฏิบัติภารกิจฝนหลวง ซึ่งมีอยู่ 3 ขั้นตอนหลัก คือ ขั้นตอนก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน แล้วโจมตี โดยการปฏิบัติการฝนหลวงนั้นต้องอาศัยเงื่อนไขสภาพอากาศที่เอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวง จึงบินปฏิบัติในขั้นตอนที่หนึ่งก่อกวนและก่อเมฆ ขั้นตอนที่สองคือตามไปเลี้ยงเมฆให้อ้วน แล้วก็ไปโจมตีทำให้เกิดเป็นฝนในที่สุด

โดยตำราฝนหลวงพระราชทานนี้ สามารถนำมาแตกแขนงเป็นภารกิจของกรมฝนหลวงฯ  4 ด้านได้แก่ 1.ปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาไฟป่าและหมอกควัน รวมถึงฝุ่นจิ๋ว (PM 2.5) ในชุมชนเมือง ด้วยการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อสลายฝุ่นหมอกควันและดับไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ

2.ปฏิบัติการบรรเทาและยับยั้งพายุลูกเห็บ โดยใช้การยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ ซึ่งติดตั้งกับเครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบอัลฟาเจ็ตของกองทัพอากาศขึ้นบิน และยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์เข้าสู่ยอดเมฆเย็นที่ระดับสองหมื่นฟุต สลายกลุ่มเมฆเพื่อให้เม็ดน้ำเย็นยิ่งยวดแตกตัวเล็กลงและกลายเป็นฝนตกลงมาแทนลูกเห็บ

3.ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและป้องกันภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ทั้งในช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วง  และ 4.ปฏิบัติการเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้มีน้ำเก็บกักสำรองไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ได้ร่วมมือกับกองทัพอากาศและกองทัพบก สนับสนุนอากาศยานและกำลังพล ร่วมปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยไม่มีวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ แม้กระทั่งช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติภารกิจฝนหลวง เพียงแค่ต้องปรับรูปแบบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ตามที่ ศบค.กำหนดไว้

อย่างกรณีที่ต้องลงพื้นที่เพื่อสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรและประชาชนที่ต้องการขอรับบริการฝนหลวงตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ก็ปรับเปลี่ยนมาใช้การสื่อสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ทั้ง Facebook, Instagram, Twitter, Line ซึ่งเกษตรกรสามารถแจ้งข้อมูลการเพาะปลูก ปริมาณฝนตก หรือความต้องการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่เข้ามาได้โดยตรง หรือจะส่งข้อมูลผ่านอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ที่เป็นตัวแทนพี่น้องเกษตรกรที่ทำงานร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรก็ได้เช่นกัน

“นอกจากนี้ ยังได้เผยแพร่แผนปฏิบัติการฝนหลวงและผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกวัน โดยจะ Live สดผ่านเพจ Facebook ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เวลาประมาณ 10.30 น.ทุกวัน เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจได้ติดตามความคืบหน้าภารกิจฝนหลวง และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เสนอความคิดเห็นหรือขอรับบริการฝนหลวงในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วงผ่านช่องทางนี้ได้อีกด้วย ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะนำข้อมูลมาพิจารณาวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงให้สอดคล้องกับความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนการปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ ทั้ง 13 หน่วยฯ จะมีการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวัน ตลอดจนเฝ้าติดตามสภาพอากาศ หากสภาพอากาศเอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวงพร้อมช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที”อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าว