สศก. โชว์ผลติดตาม Smart Farmer ปี 64 ช่วยเกษตรกรพัฒนาศักยภาพ สร้างความมั่นคงในอาชีพ

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ปี 2564 โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ กรมหม่อมไหม และสำนักงานงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ร่วมดำเนินการในพื้นที่ 77 จังหวัด เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่องและยกระดับเป็นผู้ประกอบการเกษตรที่มีศักยภาพ ตลอดจนการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เป็น Young Smart Farmer

สำหรับการพัฒนาเกษตรกรให้ยกระดับเป็นเกษตรกรปราดเปรื่องในปี 2564 โดยการบูรณาการทั้ง 5 หน่วยงาน สามารถพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer และ Smart Farmer Model ได้รวมทั้งสิ้น 29,335 ราย คิดเป็นร้อยละ 102.29 ของเป้าหมาย 28,707 ราย ซึ่งผลการพัฒนาเกษตรกรในแต่ละกลุ่ม พบว่า มีการพัฒนาเกษตรกรกลุ่ม Developing Smart Farmer จำนวน 20,375 ราย หรือร้อยละ 98.62 ของเป้าหมาย 20,660 ราย พัฒนากลุ่ม Existing Smart Farmer จำนวน 454 ราย คิดเป็นร้อยละ 151.33 ของเป้าหมาย 300 ราย พัฒนาเกษตรกรกลุ่ม Smart Farmer Model จำนวน 863 ราย คิดเป็นร้อยละ 95.68 ของเป้าหมาย 902 ราย พัฒนาเกษตรกรทั่วไป สู่เกษตรกรรุ่นใหม่ จำนวน 4,447 ราย คิดเป็นร้อยละ 99.37 ของเป้าหมาย 4,475 ราย และพัฒนา Young Smart Farmer 3,196 ราย คิดเป็นร้อยละ 134.85 ของเป้าหมาย 2,370 ราย

นอกจากนี้ ผลการติดตามเกษตรกร ร้อยละ 52.68 ได้นำความรู้จากการฝึกอบรมไปใช้ในพื้นที่ของตนเอง สามารถลดรายจ่ายในการผลิตได้ เนื่องจากเกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์/สารชีวภัณฑ์ทดแทนปุ๋ยเคมี และผลิตอาหารปลาใช้เอง โดยรายจ่ายค่าปุ๋ยเคมีในการทำนาลดลงเฉลี่ย 584 บาท/ไร่ ค่าปุ๋ยเคมีผลิตพืชผักลดลงเฉลี่ย 1,660 บาท/ไร่ ค่าปุ๋ยเคมีผลิตไม้ผลลดลงเฉลี่ย 227 บาท/ไร่ ค่าสารชีวภัณฑ์ในการทำนาลดลงเฉลี่ย 250 บาท/ไร่ และค่าอาหารปลาลดลงเฉลี่ย 850 บาท/เดือน

ด้านรายได้ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า เกษตรกรร้อยละ 62.62 มีรายได้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น เช่น รายได้จากการจำหน่ายข้าวปลอดสารพิษแปรรูปเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17,560 บาท/ปี รายได้จากจำหน่ายผลผลิตด้านประมงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9,500 บาท/ปี รายได้จากการจำหน่ายพืชผักเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 36,806 บาท/ปี และรายได้จากการจำหน่ายไม้ผลเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 45,000 บาท/ปี

“ภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการฯ เป็นอย่างมาก เนื่องจากได้รับประโยชน์อย่างรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจที่มีรายได้ดีขึ้น รายจ่ายลดลง รวมไปถึงด้านสังคม ซึ่งได้รับการพัฒนา และส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม สร้างเครือข่าย นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการจัดอบรมประสบปัญหาการแพร่ระบาดของ โควิด-19 หน่วยงานระดับพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการจัดอบรมให้กับเกษตรกรได้ตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ ควรมีการจัดอบรมหลักสูตรที่สามารถต่อยอดให้เกษตรกร โดยเฉพาะหลักสูตรเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ มูลค่าการผลิต หลักสูตรเกี่ยวกับการตลาด นอกจากนี้ หน่วยงานในพื้นที่อาจพิจารณาจัดอบรมในช่วงที่เกษตรกรว่างจากการผลิต เพื่อจะได้มีเวลาอย่างเต็มที่ และจัดทำแผนสำรองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น การใช้สื่อการสอนแบบออนไลน์ ที่เกษตรกรสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้” เลขาธิการ สศก. กล่าว

เปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายของเกษตรกร ก่อน – หลังเข้าร่วมโครงการ