ที่มา | เทคโนโลยีเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค22 |
เผยแพร่ |
คุณวีนัด สำราญวงศ์ จังหวัดบุรีรัมย์ นับเป็นเกษตรกรต้นแบบ ที่มีผลงานโดดเด่นในเรื่องการปลูกดูแลอ้อยตอ ที่ขยายผลผลิตนับสิบปี แนวคิดในการทำอ้อยอย่างยั่งยืนคือ ตัดอ้อยสดส่งขายโรงงานน้ำตาลโดยไม่มีการเผาใบอ้อย เพื่อลดโลกร้อน รักษาระบบนิเวศในไร่อ้อย อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ให้อยู่ในสภาพธรรมชาติ
นอกจากนี้ มุ่งรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยตัดอ้อยสด ตัดใบอ้อยทิ้งในแปลง และการฉีดน้ำหมักปุ๋ยยูเรีย ช่วยเร่งการย่อยสลายของใบอ้อยทุกปี ทำให้ดินมีความชื้น มีอินทรียวัตถุเพิ่มมากขึ้น และดินมีความอุดมสมบูรณ์
ตั้งแต่ตออ้อยที่ 4 ไม่ต้องปลูกอ้อยใหม่ ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน สามารถลดต้นทุนการผลิตในการเตรียมดิน ค่าปลูก ค่าพันธุ์อ้อย ค่ากำจัดวัชพืช และค่าปุ๋ยที่เกินความจำเป็น การตัดอ้อยสด นอกจากได้ค่าขายต้นอ้อย และค่าความหวานเพิ่ม ซีซีเอส (CCS.) ทางโรงงานน้ำตาลยังให้เงินเพิ่มจากการตัดอ้อยสด ตันละ 30-50 บาท ทำให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้น
คุณวีนัด ตั้งใจเลี้ยงอ้อยไว้ตอนานอย่างยั่งยืน โดยไม่นำรถตัดอ้อยซึ่งเป็นเครื่องจักรกลขนาดใหญ่เข้าในแปลงอ้อย เพื่อไม่ให้ตออ้อยถูกทำลายและดินแน่นจนเกิดดินดาน สามารถไว้ตอได้นานหลายสิบปี โดยให้ผลผลิตสม่ำเสมอ
คุณวีนัด ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ส่งเสริมการรวมกลุ่มชาวไร่อ้อยที่เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน ผลงานและความสำเร็จของผลงานทั้งปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนระยะเวลาที่ปฏิบัติงานและความยั่งยืนในเส้นทางอาชีพ ทำให้คุณวีนัดได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2560
ทุกวันนี้ คุณวีนัด และภรรยา คือ คุณบุญพร้อม สำราญวงค์ ปลูกอ้อยเนื้อที่กว่า 200 ไร่ ในพื้นที่ตำบลหินโคก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โทรศัพท์ 083-380-1380 ปัจจุบัน สามารถปลูกอ้อยไว้ตอได้ถึง 19 ตอ โดยผลผลิตไม่ลดลง ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ประมาณ 15.38 ตัน ต่อไร่ ค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.78 CCS. ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของผลผลิตและความหวานสูงกว่าอ้อยของประเทศ
คุณวีนัดและคุณบุญพร้อม เป็นเกษตรกรที่ใฝ่รู้และเรียนรู้ตลอดเวลา สนใจเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้พัฒนาอาชีพทำไร่อ้อยให้ยั่งยืนต่อไป จึงได้รับรางวัลชาวไร่อ้อยตัวอย่างด้านการผลิตอ้อยอย่างยั่งยืน ปี 2557 รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อยที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปี 2558 และรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำไร่ ประจำปี 2557-2558 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7
เคล็ดลับการทำไร่อ้อยแบบยั่งยืน
คุณวีนัด วางแผนการผลิตอ้อยประจำปี โดยมีกรอบการทำงานที่ชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารทุน แรงงานและเวลาที่กำหนด คุณวีนัดทดลองปลูกอ้อยหลายพันธุ์ใน 1 แปลง จดบันทึกติดตามผลการปรับตัวของอ้อยทุกพันธุ์ในทุกแปลง เลือกพันธุ์ที่เจริญเติบโตและให้ผลดี นำไปปลูกขยายผลตามสภาพพื้นที่ เช่น LK92-11, K95-84, สุพรรณบุรี 80, K99-72 และพันธุ์ขอนแก่น 3
การปลูกอ้อย เริ่มจากเตรียมดิน ปรับพื้นที่ ไถระเบิดดินดาน เตรียมท่อนพันธุ์สะอาดโดยทำแปลงผลิตพันธุ์เอง เน้นปลูกอ้อยข้ามแล้ง ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้ใบอ้อยตัดสดคลุมเพื่อรักษาความชื้นในดิน และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปรับโครงสร้างดิน และใส่ปุ๋ยเคมีบำรุงตอ อ้อย 25 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่เนื่องจากกากใบอ้อยมีความหนาทำให้ปุ๋ยที่หว่านในแปลงอ้อยตกลงไม่ถึงพื้นดิน จึงหาวิธีการให้ปุ๋ยลงดินโดยการนำโซ่มัดเอว 2 ข้าง แล้วเดินหว่านปุ๋ย ปลายสายโซ่ที่มัดเอวไว้จะปัดตีใบอ้อย ทำให้ปุ๋ยตกลงสู่ดินเป็นธาตุอาหารอย่างเต็มที่ และไม่ระเหิดสู่อากาศ และใช้แรงงานคนกำจัดวัชพืชเพื่อลดความเสียหายของตออ้อยจากเครื่องจักรทางการเกษตร
น้ำหมักยูเรียย่อยสลายใบอ้อย
ข้อดีของการไม่เผาใบอ้อย นอกจากอนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติและรักษาระบบนิเวศในแปลงอ้อยแล้ว หลังตัดอ้อยสดและใช้ใบอ้อยคลุมดิน คุณวีนัดใช้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) 25 กิโลกรัม + น้ำเปล่า 200 ลิตร หมักไว้ 7 วัน ฉีดพ่น 5-6 ครั้ง เพื่อให้ใบอ้อยย่อยสลาย ใบอ้อยเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ทำให้อ้อยตอมีผลผลิตที่ดี อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ใบอ้อยย่อยสลายได้ไว ควรฉีดพ่นน้ำหมักยูเรียในช่วงที่มีฝนและมีความชื้นเท่านั้น
การนำเทคโนโลยีน้ำหมักยูเรียย่อยสลายตอซังข้าวมาประยุกต์ในแปลงไร่อ้อยพบว่า ใบอ้อยและตออ้อยเหนือดินย่อยสลายได้เร็ว ตออ้อยไม่มีเชื้อราและเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุและความชื้นในดินต้นอ้อยงอกใหม่จากตาใต้ดิน เติบโตแข็งแรง ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดินมีความชื้น ไม่ต้องให้น้ำในฤดูแล้ง และเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ด้วยวิธีการนี้ สามารถไว้ตออ้อยที่ปลูกจนปัจจุบันได้ถึง 19 ตอ โดยผลผลิตไม่ลดลง ขณะที่ไร่อ้อยส่วนใหญ่มีผลผลิตลดลงตามจำนวนปีที่ไว้ตออ้อย
ไม่ขาดแรงงานตัดอ้อย
การเก็บเกี่ยวอ้อย คุณวีนัดใช้แรงงานคนตัดอ้อยสดเป็นหลักทุกปี สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวอ้อยได้สำเร็จ เพราะแบ่งพื้นที่ปลูกตออ้อยของตนเองให้แรงงานตัดอ้อย โดยแบ่งญาติและเพื่อนบ้าน จำนวน 4 ครอบครัว ครอบครัวละประมาณ 3-5 ไร่ เพื่อให้มีรายได้จากการขายอ้อยและเป็นเจ้าของไร่อ้อยนอกเหนือจากการเป็นเพียงผู้รับจ้าง ซื้อรถเกี่ยวข้าวเพื่อช่วยเกี่ยวข้าวในแปลงนาของสมาชิกและเพื่อนบ้าน ทำให้มีแรงงานมาช่วยในการตัดอ้อยสดในระยะเวลาที่ต้องการ
คุณวีนัด ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อลดต้นทุนการผลิต เลือกใช้ปุ๋ยสั่งตัดจากการผสมแม่ปุ๋ยเอง ไม่เผาใบอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวเพื่ออนุรักษ์สัตว์ แมลงศัตรูธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาของแมลงสัตว์ศัตรูอ้อยและวัชพืช โดยตัดใบอ้อยทิ้งในแปลงปลูก เป็นการรักษาความชื้นและเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน
ใช้ผลกำไร ซื้อที่ปลูกอ้อยเพิ่ม
คุณวีนัด เริ่มต้นปลูกอ้อยจากที่ดินมรดกเพียง 8 ไร่ แต่ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 200 ไร่ จากชาวไร่อ้อยขนาดเล็ก ขยับขึ้นเป็นชาวไร่อ้อยขนาดกลาง และมีโอกาสเป็นชาวไร่อ้อยขนาดใหญ่ได้ในอนาคต เพราะคุณวีนัดไม่ซื้อรถแทรกเตอร์ เนื่องจากปลูกอ้อยใหม่น้อยมากในแต่ละปี เพราะไว้ตอได้หลายครั้ง มีอ้อยปลูกใหม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ การจ้างรถไถจึงคุ้มกว่า มีรถบรรทุกสิบล้อสำหรับขนส่งอ้อยเพียงคันเดียวเท่านั้น ต้นทุนการผลิตอ้อยจึงต่ำมาก มีกำไรประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้
ในแต่ละปีคุณวีนัดมีรายได้สุทธิไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท และนำเงินส่วนนี้ไปซื้อที่ดินเพิ่มเกือบทุกปี ทำให้มีที่ดินปลูกอ้อยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จาก โรงงานน้ำตาลพิมาย (FB: kisugargroup) และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์