ข้าวสหกรณ์ส่งขายแอมเวย์ 22 ปีจำนวน 3.9 หมื่นตัน โกยรายได้กว่า 992.76 ล้านบาท

กรมส่งเสริมสหกรณ์ จับมือแอมเวย์ยาวนาน 22 ปี ส่งข้าวมากกว่า 3.9 หมื่นตันสร้างรายได้ให้สมาชิกสหกรณ์กว่า 992.76 ล้านบาท ขยายตลาดข้าวสารต่อเนื่องหนุนสหกรณ์ต่อยอดข้าวคุณภาพ หวังส่งออก ตปท. สร้างรายได้เพิ่มให้กับสมาชิกอย่างยั่งยืน
กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดพิธีลงบันทึกข้อตกลงขายข้าวแอมเวย์ โดยมี นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นสักขีพยาน ระหว่าง บริษัท ซี.เอ.เอส อินเตอร์เทรด จำกัด กับสหกรณ์การเกษตร จำนวน 5 แห่ง ที่เป็นคู่ค้าข้าวสารกับบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมหนุนสหกรณ์ผู้ผลิตข้าวพัฒนาต่อยอดข้าวคุณภาพ หวังส่งออกจำหน่ายตลาดต่างประเทศ

นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ขยายช่องทางตลาดข้าวสารภายในประเทศ โดยประสานความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตข้าวคุณภาพกับบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อช่วยให้สหกรณ์มีตลาดจำหน่ายข้าวสารที่แน่นอน และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง

กรมฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกสหกรณ์การเกษตรที่มีการแปรรูปข้าวที่มีศักยภาพและเป็นสหกรณ์ที่ผลิตข้าวหอมมะลิแท้ ทำสัญญาซื้อขายและเป็นคู่ค้าข้าวสารสหกรณ์กับบริษัทแอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นข้าวหอมมะลิบรรจุถึงสุญญากาศ ภายใต้เครื่องหมาย “Amway” ตั้งแต่ ปี 2542 เป็นต้นมา จวบจนปัจจุบันเป็นระยะเวลายาวนานถึง 22 ปี

นายอัชฌา กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งเริ่มโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีปริมาณและมูลค่าของข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้องหอมมะลิ และข้าวกล้องงอก ที่ส่งมอบให้กับบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด มีปริมาณรวมกว่า 39,300.45 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 992.76 ล้านบาท

ปัจจุบันมีสหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ 5 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร พิมาย จำกัด จังหวัดนครราชสีมา สหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด สหกรณ์การเกษตรปราสาท จำกัด จังหวัดสุรินทร์ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรบุรีรัมย์ จำกัด จังหวัด บุรีรัมย์ และสหกรณ์การเกษตรพร้าว จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทุกสหกรณ์มีศักยภาพในการผลิตรวบรวมและแปรรูปข้าวสาร มีโรงสีข้าวที่ผ่านมาตรฐาน GMP HACCP และ อย. มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 40 – 100 ตันต่อวัน

ที่ผ่านมา กรมฯ ได้สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจข้าว ของสหกรณ์ตั้งแต่ด้านการผลิต การรวบรวม การแปรรูป และการตลาด โดยให้ความรู้ สนับสนุนเงินทุน อุปกรณ์การตลาด การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หาตลาดและการจับคู่ธุรกิจ รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมการค้าภายใน องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อ.ต.ก.

รวมทั้งสหกรณ์ได้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวคุณภาพที่มีหลากหลายสายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น พัฒนาเครื่องจักรกลต่าง ๆ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ปริมาณโรงสีขนาดใหญ่ในสถาบันเกษตรกร/สหกรณ์เพิ่มมากขึ้น มีประมาณ 50 โรงสี รวมทั้งมีไซโลเก็บผลผลิตทางการเกษตรขนาดใหญ่ และสิ่งที่สำคัญ ที่จะตอบโจทย์การตลาดในปัจจุบัน คือ การตลาดออนไลน์ การขนส่งมีความรวดเร็ว สินค้าดีมีคุณภาพตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงขายข้าวแอมเวย์ ในครั้งนี้ เป็นความตกลงร่วมกันในการซื้อขายข้าวสาร Lot 50 ในปริมาณ 312 ตัน มูลค่า 9.862 ล้านบาท กำหนดส่งมอบระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2565

ทั้งนี้ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ได้มีการนำเสนอสินค้าใหม่เพื่อทำข้อตกลงซื้อขายระหว่างสหกรณ์ กับบริษัท ซี.เอ.เอส อินเตอร์เทรด จำกัด ในฐานะผู้แทนของบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีนโยบายในการขยายฐานลูกค้าใหม่ ต้องการข้าวสารคุณภาพ อาทิ ข้าว 5 สี (ข้าวไรซ์เบอร์รี่งอก ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวสังข์หยด ข้าว กข.43 และข้าวหอมมะลิ) และข้าวตรา CaslightG

เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ เจาะกลุ่มลูกค้าประเภทร้านอาหารเป็นหลัก เน้นการตลาดออนไลน์มีการสื่อสารที่รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ช่วยระบายข้าวในสต๊อคของสหกรณ์ และเป็นการแก้ไขปัญหาข้าวราคาตกต่ำด้วย

ด้านนางปาณชญา บวชสันเทียะ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ฯ ได้เข้าร่วมโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 44 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ข้าวของสหกรณ์ฯ เป็นที่รู้จักและยอมรับของกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นในคุณภาพการผลิตข้าวของสหกรณ์ ทำให้สหกรณ์มีโอกาสพัฒนาต่อยอดข้าวคุณภาพจำหน่ายให้กับลูกค้ารายอื่นด้วย

นอกจากจะส่งข้าวให้กับแอมเวย์แล้ว สหกรณ์ยังส่งข้าวให้กับโรงแรมต่าง ๆ ข้าวปลอดภัยส่งขายให้โรงพยาบาลในจังหวัดนครราชสีมา และจำหน่ายให้กับเครือข่ายสหกรณ์ รวมทั้งมีพ่อค้ารายอื่น ๆ ติดต่อขอซื้อข้าวสารของสหกรณ์ด้วย

ทางสหกรณ์มีความพร้อมมีศักยภาพในการผลิตข้าวคุณภาพ มีโอกาสส่งออกข้าวไปต่างประเทศในอนาคตโดยอาศัยความร่วมมือจาก บริษัท ซี.เอ.เอส อินเตอร์เทรด จำกัด เป็นตัวกลางในการประสานเครือข่ายทางการตลาดกระจายสินค้าไปยังต่างประเทศ อาทิ ประเทศจีน อินเดีย

รวมทั้งประสานกับบริษัท แอมเวย์ ในต่างประเทศนำข้าวแอมเวย์ไปจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ถ้าสามารถกระจายไปยังต่างประเทศได้ จะทำให้สหกรณ์มียอดการจำหน่ายสูงขึ้น สหกรณ์มีกำไรจากการดำเนินธุรกิจมากขึ้น สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย