“ซีพี-เมจิ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ รักแผ่นดิน” เดินหน้าปลูกป่าและบำรุงรักษาต้นไม้ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับ ซีพี-เมจิ เดินหน้าโครงการ “ซีพี-เมจิ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ รักแผ่นดิน” เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ผืนป่า ลดก๊าซเรือนกระจก ฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนเป้าหมายปลูกต้นไม้ 14,000 ต้น บนพื้นที่ 70 ไร่ ในปี 2564 ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ อนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนเป้าหมายเครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งสู่องค์กรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

นายนิธิ อาจสมรรถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี ร่วมกับผู้บริหารของบริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด นำพนักงาน ซีพี-เมจิ จิตอาสา เครือข่ายรักษ์พงไพร ประชาชน  ร่วมกันปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าแก่งคอย ตำบลชำผักแพว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ในการพลิกฟื้นผืนป่าให้กลับมาสมบูรณ์ เป็นต้นน้ำให้กับชาวจังหวัดสระบุรีอย่างยั่งยืน

ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี กล่าวว่า ผืนป่าบริเวณชำผักแพว ตำบลท่ามะปราง และตำบลชะอม จังหวัดสระบุรี เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญ การที่ประชาชนและเอกชน ร่วมกันปลูกและอนุรักษ์ป่าในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ ซีพี-เมจิ ที่ร่วมขับเคลื่อนการเพิ่มผืนป่า พัฒนาสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ทำให้การพลิกฟื้น ผืนป่าสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายภูวนาถ โชคเพิ่มพูน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด เปิดเผยว่า โครงการ ซีพี-เมจิ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ รักแผ่นดิน ประจำปี 2564 มีเป้าหมายปลูกต้นไม้ 14,000 ต้น บนผืนป่า 70 ไร่ ได้ดำเนินการปลูกต้นไม้ไปแล้ว 50 ไร่ หรือ 10,000 ต้นในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น และกิจกรรมในครั้งนี้ ได้ปลูกต้นไม้อีก 4,000 ต้น บนพื้นที่ 20 ไร่ ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแก่งคอย เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างสมดุลระบบนิเวศ ลดภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้  ซีพี-เมจิ ดำเนินโครงการ “ซีพี-เมจิ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ รักแผ่นดิน” ในปี 2564 เป็นปีแรก ปลูกต้นไม้ไปแล้ว 14,000 ต้น บนพื้นที่รวม 70 ไร่ โดยในปี  2565 มีแผนปลูกต้นไม้ 16,000 ต้น พร้อมทำแนวป้องกันไฟป่า ครอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำ 80 ไร่ ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาวงจันแดง ตำบลหัวลำ อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี