เผยแพร่ |
---|
ชาวนายิ้มออก แปลงสาธิตโครงการเพิ่มข้าวเห็นผล ผลผลิตและคุณภาพสูงขึ้นด้วยเทคนิคการวิเคราะห์ดิน และการจัดการธาตุอาหารให้ตรงตามที่พืชต้องการ
สืบเนื่องจากปลายปีที่แล้วทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตสุราษร์ธานี ร่วมกับ บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี จัดทำแปลงทดลองกึ่งสาธิตการจัดการธาตุอาหารสำหรับข้าวพันธุ์สังข์หยด ที่ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เพื่อนำเทคโนโลยี ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพิ่มปริมาณผลผลิต คุณภาพ และปริมาณสารสำคัญของข้าวสังข์หยด โดยใช้การตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติทางเคมีของดิน เพื่อพัฒนาเป็นแนวทางการจัดการธาตุอาหาร สมดุลของธาตุอาหาร ในดิน พืช การปรับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวจากแปลงทดลอง ผลปรากฏว่าสามารถเก็บเกี่ยวข้าวสังข์หยดได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่เกษตรกรเคยเก็บเกี่ยวได้ 324 กิโลกรัม ต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 409 กิโลกรัม ต่อไร่ อีกทั้งยังได้คุณภาพที่ปริมาณสาร
สำคัญที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ

ผศ.ดร. ธีร สรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำหลักสูตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกษตร โครงการจัดตั้งคณะนวัตกรรมการเกษตรและประมง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เปิดเผยถึงสาเหตุของการเลือกข้าวสังข์หยดพัทลุงทำแปลงสาธิตในครั้งนี้ว่า เนื่องจากข้าวสังข์หยดเป็นข้าว GI สายพันธุ์แรกของประเทศไทย และยังเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ด้วยอัตลักษณ์พิเศษด้านคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดพัทลุง แต่เกษตรกรในพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาผลผลิตในพื้นที่ต่ำ จึงเป็นที่มาของการเลือกข้าวสังข์หยดปลูกทดลองในแปลงสาธิตครั้งนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และป้องกันไม่ให้ข้าวสังข์หยดสูญหายไปจากการแข่งขันกับข้าวชนิดอื่นๆ รวมถึงช่วยให้เกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยใช้การจัดการธาตุอาหารอย่างถูกวิธีและเหมาะสมในแต่ละช่วงที่พืชต้องการ
ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้จะสำเร็จไม่ได้เลยหากขาดการสนับสนุนจากภาคเอกชน บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี เนื่องจากที่ผ่านมาการเชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่น หรือการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมถือเป็น 1 ใน 4 พันธกิจของมหาวิทยาลัยดั้งเดิมมา นอกจากการเรียน การสอน การวิจัยที่เป็นงานหลักและมีความเชี่ยวชาญ แต่ทางมหาวิทยาลัยยังขาดในด้านความคล่องตัว การลงพื้นที่ชุมชน รวมถึงงบประมาณที่ยังเป็นจุดอ่อน ดังนั้น การร่วมมือกับภาคเอกชนถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในการหาจุดร่วมเพื่อให้การทำงานมีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ทั้งในการเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตในพื้นที่ รวมถึงการเพิ่มรายได้และการเพิ่มคุณภาพของสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพในระดับสากล
ใช้พื้นที่ 8 ไร่ ทำแปลงสาธิตปลูกข้าวสังข์หยด
ผลผลิตเพิ่ม กำไรเพิ่ม เกษตรกรยิ้มออก
สำหรับการทำแปลงสาธิตปลูกข้าวสังข์หยด ผศ.ดร. ธีร สรีสวัสดิ์ ให้ข้อมูลว่า ทางมหาวทิยาลัยและบริษัทได้ใช้พื้นที่ตำบลควนมะพร้าว จังหวัดพัทลุง จำนวน 8 ไร่ ทำแปลงสาธิตโดยที่พื้นที่ตรงนี้มีสภาพเป็นดินทรายไม่เหมาะต่อการปลูกข้าว และชื่อตำบลควนมะพร้าว ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นพื้นที่มะพร้าวเยอะ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ก็ได้ปรับเปลี่ยนมาทำนาเพื่อมาปลูกข้าวสังข์หยด โดยที่ไม่ได้มีการวิเคราะค์ค่าดิน หรือศึกษาลักษณะพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมในการปลูกข้าวหรือไม่ นี่จึงเป็นสาเหตุหลักสำคัญที่ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของข้าวที่ไม่ดีเท่าที่ควร
โดยจากผลการทดลองปลูกข้าวบนแปลงสาธิต จำนวน 8 ไร่ ทางคณะวิจัยได้มีการนำดินในพื้นที่ไปตรวจวิเคราะห์ ผลที่ได้รับออกมาคือดินมีธาตุอาหาร อินทรียวัตถุที่ต่ำ สอดคล้องกับผลผลิตของเกษตรกรที่ให้ข้อมูลว่าพื้นที่ตรงนี้ได้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ประมาณ 300 กิโลกรัม ต่อไร่ ถือเป็นปริมาณที่น้อยไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงเป็นที่มาของการจัดทำแปลงสาธิตและตั้งเป้าหมายในการปลูกข้าวให้ได้ผลผลิต 500 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ผลการวิเคราะห์ค่าดิน สู่การพัฒนารูปแบบแนวทางการจัดการธาตุอาหาร ให้เหมาะสมต่อความต้องการของพืช
ผศ.ดร. ธีร สรีสวัสดิ์ เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลตลอดระยะเวลาการปลูกข้าวสังข์หยด 1 ฤดูกาล ตัวแปรสำคัญที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของข้าว คือการตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติทางเคมีของดิน เพื่อพัมนารูปแบบแนวทางจัดการธาตุอาหารให้เหมาะสมตรงตามที่พืชต้องการ
1.การปรับสูตรและปริมาณการให้ปุ๋ย จากเดิมเกษตรกรเคยใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ปริมาณ 45 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งหลังจากผลวิเคราะห์ดินออกมาแล้ว ทาง บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ได้ใช้องค์ความรู้ที่ทางบริษัทมีความชำนาญคิดคำนวณสูตรปุ๋ยตามที่พืชต้องการอย่างแท้จริง จนได้ผลสรุปออกมาว่า จากเดิมที่เกษตรกรเคยใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ให้ใส่เพิ่มเป็น 3 ครั้ง และเพิ่มปริมาณการใส่จากเดิม 45 กิโลกรัม ต่อไร่ เป็น 55 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือใส่เพิ่มขึ้นจากเดิม 10 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยวิธีการใส่ปุ๋ย จะดูจากการเจริญเติบโตของข้าวเป็นหลัก หรือใส่ให้ตรงกับระยะที่พืชต้องการในแต่ละระยะ เพราะในแต่ละระยะพืชจะมีความต้องการปุ๋ยที่ไม่เหมือนกัน
ระยะที่ 1 ข้าวระยะ 1 เดือน จะต้องเน้นธาตุไนโตรเจน ช่วยในการเจริญเติบโตของลำต้น และใบ ในเรื่องของการสังเคราะห์แสง ให้ใส่สูตร 18-4-5 ในปริมาณ 25 กิโลกรัม ต่อไร่ จากเดิมที่เกษตรกรเคยใส่ปุ๋ย
ระยะที่ 1 ปริมาณ 30 กิโลกรัม ต่อไร่ ให้ลดปริมาณใส่น้อยลง เนื่องจากต้นข้าวยังเล็ก หากใส่ปุ๋ยมากเกินไปถือเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยเปล่าประโยชน์
ระยะที่ 2 ข้าวระยะ 2 เดือน จากเดิมที่เกษตรกรไม่เคยใส่ปุ๋ยในช่วงนี้ แต่ทางบริษัทใส่เนื่องจากเป็นช่วงที่ข้าวกำลังตั้งตัว และยืดความสูง จะใส่ปุ๋ยสูตร 20-8-20 ปริมาณ 20 กิโลกรัม ต่อไร่ (ถ้านับ 2 ครั้งนี้ จะเท่ากับปริมาณที่เกษตรกรใช้ รวมเป็น 45 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่ว่าเกษตรกรให้ช่วงข้าวตั้งท้อง คือช่วงที่ข้าวออกดอกแล้ว)
ระยะที่ 3 ตามสูตรของเราจะให้ปุ๋ยก่อนข้าวออกดอก 15 วัน เป็นสูตรเสมอ 15-15-15 ในปริมาณ 10 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นสูตรพิเศษ เพราะ 1 ไร่ จะให้ปุ๋ยเพิ่มจากที่เกษตรกรให้ 10 กิโลกรัม เพื่อไปเน้นการออกดอก เน้นการพัฒนาผลผลิต พร้อมกับการให้ธาตุอาหารรองควบคู่ไปด้วย ส่วนผลลัพธ์ที่ได้เป็นสิ่งที่ภูมิใจมากๆ ทั้งในเรื่องของปริมาณผลผลิตและคุณภาพ ดังนี้
1. ปริมาณผลผลิต จากที่ทางบริษัทให้ปุ๋ย 3 ครั้ง ต่อ 1 รอบการปลูก ช่วยทำให้จำนวนต้นต่อก่อ จำนวนรวงต่อก่อมากขึ้น และจำนวนเมล็ดต่อรวงที่มากกว่าของเกษตรกร จากการทดสอบนำเมล็ดข้าวจากแปลงสาธิต กับข้าวของเกษตรกรมาชั่งเปรียบเทียบกันในจำนวนเมล็ดข้าว 1,000 เมล็ดเท่ากัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ เมล็ดข้าวจากแปลงสาธิตมีน้ำหนักที่มากกว่า
2. คุณภาพผลผลิตเมล็ดข้าว 1 รวง จะมีเมล็ดลีบประกอบอยู่ด้วย คือเมล็ดที่ดอกไม่ได้รับการผสม การให้ปุ๋ยสูตรของบริษัททำให้จำนวนเมล็ดลีบลดน้อยลงครึ่งหนึ่ง หรือเปรียบได้ว่า จำนวนเมล็ดลีบจากแปลงสาธิต มีจะนวน 10 เมล็ด ต่อรวง แต่ของเกษตรกรมี 18 เมล็ด ต่อรวง และในส่วนของการวัดความสั้น-ยาวของเมล็ดข้าว หากเมล็ดข้าวที่มีความสั้นกว่า 6 มิล จัดเป็นข้าวเมล็ดสั้น แต่ถ้าเมล็ดข้าวมีความยาวกว่า 6 มิล จัดเป็นข้าวเมล็ดยาว ซึ่งการให้ปุ๋ยอย่างถูกระยะที่พืชต้องการมีผลต่อการเพิ่มความยาวของเมล็ดข้าว สามารถสรุปได้ว่า เมื่อเมล็ดข้าวยาวขึ้น ทำให้น้ำหนักต่อ 1,000 เมล็ด มากกว่าเพราะความยาวของเมล็ดมากกว่าของเกษตรกรที่อยู่ในเกณฑ์เมล็ดสั้น แต่ข้าวจากแปลงทดลองเปลี่ยนกลายเป็นข้าวเมล็ดยาวจากการใส่ปุ๋ยให้ตรงต่อความต้องการของพืชในแต่ละระยะ
3. คุณภาพทางด้านเคมี ข้าวสังข์หยด จุดเด่นคือเรื่องของวิตามิน และมีไฟเบอร์สูง รวมถึงสารสีแดงที่เป็นเยื่อหุ้มเมล็ดทำให้เมล็ดมีสีแดง สีส้มแดง หรือสีแดงเข้ม โดยสารตัวนี้เรียกว่าสารสารแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสิ่งจูงใจให้ผู้สูงอายุ และคนรักสุขภาพส่วนใหญ่หันมาบริโภคข้าวสังข์หยดมากขึ้น
จากการเปรียบเทียบสารแอนโทไซยานิน ระหว่างข้าวจากแปลงสาธิตและข้าวของเกษตรกร พบว่าปริมาณสารแอนโทไซยานินต่างกัน คือของเกษตรกรสารแอนโทไซยานินอยู่ที่ 0.62 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ข้าวจากแปลงสาธิตสารแอนโทไซยานินอยู่ที่ 1.37 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร มากกว่าเท่าตัว
4. ปริมาณอะไมโลส ที่เป็นดัชนีชี้วัดความเหนียวของข้าว ซึ่งผลการทดลองพบว่า ข้าวของเกษตรกรมี ปริมาณอะไมโลส อยู่ที่ 3.88 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในเกณฑ์ต่ำ เมื่อปล่อยข้าวให้เย็นจะเป็นข้าวที่มีความเหนียวมาก แต่ข้าวจากแปลงสาธิตมีปริมาณอะไมโลสอยู่ที่ 10.22 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในเกณฑ์อะไมโลสต่ำกว่าข้าวพื้นเมืองทั่วไปจะทำให้มีความเหนียว และนุ่มกว่า
5. คุณสมบัติแป้งคุณภาพการหุงต้ม มีการยืดตัวของเมล็ดข้าวสุกที่มากกว่า ซึ่งการขยายปริมาตรของ ข้าวสุกเหล่านี้บ่งชี้ได้ถึงการหุงขึ้นหม้อ ข้าวที่มีคุณภาพดีควรจะหุงขึ้นหม้อ
สามารถสรุปผลทดลองแปลงข้าวสาธิตได้ว่า เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกินความคาดหวังที่ตั้งไว้ จากจุดประสงค์แรกเพื่อต้องการเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวให้มากขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตปริมาณ 500 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร หากเปรียบเทียบกับการใส่ปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นเพียง 10 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่กำไรสูงขึ้น 56 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าคุ้มค่า แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่เพิ่มเติมมาด้วย คือเรื่องของคุณภาพของข้าวที่เพิ่มขึ้น มีสารแอนโทไซยานิน ขนาดเมล็ดที่ยาวขึ้น นำไปสู่แนวทางการทำให้ข้าวสังข์หยดพัทลุงเป็นข้าวเกรดพรีเมี่ยม สามารถแข่งขันกับข้าวสายพันธุ์อื่นในระดับสากลได้ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้เกษตรกรมีกำลังใจในการปลูกข้าวคุณภาพประโยชน์สูงอย่างข้าวสังข์หยดต่อไป
ด้าน นายประเสริฐ ทองใส เกษตรกรชาวนาหนึ่งในสมาชิกโครงการเพิ่มข้าว อยู่ที่บ้านค่ายไทย หมู่ที่ 11 ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เปิดเผยถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมโครงการเพิ่มข้าวว่า ตนเป็นชาวนาปลูกข้าวมานานกว่า 20 ปี ปัจจุบันปลูกข้าวสังข์หยดพัทลุงเป็นสายพันธุ์หลักสร้างรายได้เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี
โดยก่อนหน้านี้ลุงประเสริฐปลูกข้าวพันธุ์เฉี้ยงพัทลุงมาก่อน แต่ด้วยราคาของข้าวสายพันธุ์นี้ขายไม่ได้ราคาเท่าที่ควร จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ลุงประเสริฐต้องเปลี่ยนมาปลูกข้าวสังข์หยด เนื่องด้วยข้าวสังข์หยดเป็นข้าวสายพันธุ์ที่ขายได้ราคาดีกว่าข้าวสายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยปลูกมา แต่ยังคงติดปัญหาในเรื่องของผลผลิตต่อไร่ได้น้อย ลุงประเสริฐจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มข้าวในครั้งนี้ เพื่อหวังว่าจะได้นำความรู้ที่ทางโครงการได้ถ่ายทอด มาพัฒนาเพิ่มผลผลิตข้าวในแปลงของตนเองให้มีปริมาณและคุณภาพสูงขึ้น
สภาพแปลงปลูกเป็นดินเปรี้ยว
ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ
ลุงประเสริฐ บอกว่า ก่อนหน้านี้นาข้าวของตนไม่ได้มีการตรวจวิเคราะห์ค่าดินก่อนปลูกว่าดินในพื้นที่มีลักษณะแบบไหน ต้องปรับปรุง หรือเพิ่มธาตุอาหารชนิดใด ปลูกไปตามภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เคยทำมา แต่เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว จึงเกิดคำถามขึ้นในใจว่าทำไมผลผลิตข้าวในแปลงของตนได้น้อยใช้เวลาคิดอยู่นานก็หาคำตอบไม่ได้สักที จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเพิ่มข้าว ทำให้ได้รู้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากดิน ดินที่มีสภาพเป็นดินเปรี้ยว จนเป็นพิษกับพืชที่ปลูก จากข้อมูลที่ทางโครงการได้นำชุดดินไปตรวจวิเคราะห์ นำไปสู่ขั้นตอนการปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาเพิ่มผลผลิตข้าวในลำดับถัดไป
จนในปัจจุบันที่แปลงทดลองของตนจำนวน 8 ไร่ มีต้นทุนในการผลิตลดลง ทั้งในส่วนของค่ายา ค่าปุ๋ย และค่าเมล็ดพันธุ์จากเมื่อก่อนเคยหว่านในอัตรา 15 กิโลกรัม ต่อไร่ ลดลงมาเหลือ 12 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยได้ผลผลิตไม่ถึง 300 กิโลกรัม ต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 350-400 กิโลกรัม ต่อไร่ รวมถึงคุณภาพของข้าวที่มากขึ้น ต้นข้าวสมบูรณ์ แตกกอดี รวงยาวขึ้น
ซึ่งสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ต้องขอขอบคุณทางมหาลัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎ์ธานี และ บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ที่ได้จัดทำโครงการดีๆ แบบนี้ขึ้นมาช่วยเหลือพวกเราชาวนา และพวกเรามีความหวังว่าทางโครงการจะมีการพัฒนาต่อยอด และขยายเครือข่ายพื้นที่ทำแปลงทดลองเพิ่มข้าวขึ้นไปอีกเรื่อยๆ เพราะยังมีพี่น้องชาวนาอีกมากมายที่ยังต้องการความช่วยเหลือ ที่เห็นได้จากเกษตรกรในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงแปลงของตน หลังจากได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในนาข้าว ที่ข้าวมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ปริมาณผลผลิตเพิ่มมากขึ้น หลายคนให้ความสนใจและมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเพิ่มข้าวอีกหลายครัวเรือน

ต่อด้วย นายสุภัค เหล่าดี ผู้จัดการทั่วไป สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี กล่าวว่า ตามวัตถุประสงค์หลักที่ทางบริษัทจัดตั้งโครงการเพิ่มข้าวขึ้นมา เพื่ออยากช่วยพี่น้องเกษตรกรชาวนาได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้น และรายได้ที่ต้องเพิ่มขึ้นตามมาด้วยนั้น โดยทางบริษัทและคณะผู้ร่วมงานทุกคนมีความพึงพอใจกับความสำเร็จในครั้งนี้เป็นอย่างมาก ที่สามารถทำได้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ด้วยแนวความคิดต่าง “จากกระแสข่าวในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามที่จะลดต้นทุนของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีต้นทุนการปลูกข้าวที่ต่ำลง แต่เราคิดต่าง คิดสวนทางในแง่ของการปรับเปลี่ยน ที่เปลี่ยนจากการลดต้นทุน มาเป็นการเพิ่มต้นทุน แต่มีรายได้เพิ่มขึ้น จากผลผลิตที่มีมากขึ้น อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นแนวความคิด”
คำว่าเพิ่มต้นทุนในครั้งนี้สามารถขยายความได้ว่า ไม่ใช่เป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่มีหลักเกณฑ์ แต่เป็นการคิดคำนวณต้นทุนและผลลัพธ์ หรือผลผลิตต่อหน่วยที่จะได้กลับมาต้องคุ้มค่ากว่าเดิม เพราะถ้าหากจะมุ่งเน้นแต่การลดปัจจัยการผลิตเพียงอย่างเดียว ก็เหมือนกับการลดปัจจัยการผลิตพืชที่สำคัญออกหรือลดไม่ถูกจุด ดังนั้น พืชก็จะไม่สามารถเพิ่มผลผลิตให้ได้เหมือนกัน โดยปัจจัยการเพิ่มผลผลิตข้าว สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ 1. ปัจจัยด้านการผลิตโดยตรง เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารเคมี ธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ 2. ปัจจัยทางอ้อมในส่วนของการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมช่วยส่งเสริม หรือลดต้นทุนการผลิต ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายมากขึ้น
สามารถอธิบายเบื้องต้นได้ดังนี้ ในส่วนของการลดต้นทุนปัจจัยด้านการผลิต ที่จะเห็นได้ว่าในบางครั้งเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ที่มากเกินความจำเป็น ทำให้เกิดโรคแมลงมากขึ้น และถือเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าสารเคมี ดังนั้น การลดปัจจัยอย่างแรกที่ทำง่ายที่สุดคือการลดปริมาณการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวให้น้อยลง แต่มาเพิ่มระยะห่างของการเพาะปลูกให้มากขึ้น จะทำให้ข้าวสามารถแตกกอได้ดี โดยอ้างอิงจากงานวิจัยหลายแห่ง พบว่าเมื่อข้าวอยู่รวมกันแน่นจนเกินไป จะทำให้ประสิทธิภาพของการแตกกอลดน้อยลง แต่ถ้าปล่อยให้มีระยะห่างในการแตกก่อให้ได้รับแสงอย่างทั่วถึง ข้าวจะสามารถแตกกอได้ดี มีลำต้นที่แข็งแรงสมบูรณ์ ต้านทานโรคได้ดี นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เพียงแค่ลดปริมาณการหว่านเมล็ดพันธุ์ลง ก็ช่วยลดต้นทุนลงได้ ในขณะที่ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
ผลผลิตเพิ่ม ค่าใช้จ่ายลดลง
ปัจจัยต่อมาคือ ปุ๋ย ประเด็นของการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เกษตรกรควรจะนำมาใช้ประกอบการเพาะปลูก โดยในส่วนนี้ทางบริษัทได้มี 1. ห้องแลปวิเคราะห์ปุ๋ยที่ได้มาตรฐานและแม่นยำ ตรงตามค่าธาตุอาหารที่พืชและดินต้องการของในแต่ละพื้นที่ 2. แลปดิน หรือคลินิกดินประจำอยู่ที่โรงงาน เพื่อเปิดกว้างให้กับเกษตรกรทุกคนส่งดินมาวิเคราะห์ได้ฟรี พร้อมกับการวิเคราะห์สูตรปุ๋ยที่เหมาะกับค่าดินในแต่ละพื้นที่ให้ด้วย
“ในมุมของบริษัทเมื่อเกษตรกรเขารู้ว่าปุ๋ยที่เหมาะสมกับดินของเขาคือสูตรอะไร เราก็จะพัฒนาสูตรปุ๋ยของเราที่มีโรงงานผลิตและสามารถผลิตปุ๋ยได้หลากหลายสูตร ผลิตส่งต่อให้กับร้านค้าในชุมชน ทีนี้เกษตรกรก็จะได้ใช้ปุ๋ยที่ถูกสูตรตรงตามค่าดินที่เขาวิเคราะห์ เขาก็สามารถที่จะลดต้นทุน ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยในปริมาณมาก ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ย ยูเรีย หรือปุ๋ยสูตรเดิมๆ ที่ใช้กันมานาน แต่ไม่เหมาะกับค่าวิเคราะห์ดินอีกต่อไป”
ถัดมาเป็นปัจจัยเสริมทางอ้อมแต่เป็นสิ่งสำคัญ คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการลดต้นทุน หรือทำให้การเพาะปลูกสะดวก รวดเร็วขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้เทคโนโลยีของบริษัทที่มี มาผนวกกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยการใช้ระบบดาวเทียมสารสนเทศในการติดตามสภาพอากาศ การพยากรณ์ปริมาณฝนระยะยาวล่วงหน้า การวางแผนปลูก รวมถึงการติดตามสุขภาพข้าวในแปลง ผ่านแอปพลิเคชัน ใบไม้ รีคัลท์ รวมถึงการร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยที่มีความคุ้นเคยในพื้นที่ บวกกับมีงานวิจัยรองรับ ส่วนทางบริษัทเข้ามาต่อยอดเทคโนโลยีปุ๋ยในการเพิ่มหรือลดธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทมีความชำนาญและมีประสิทธิภาพในส่วนนี้ที่จะเข้าไปช่วยเกษตรกรได้
ซึ่งผลการดำเนินโครงการเพิ่มข้าวในปีแรกถือว่าประสบผลสำเร็จไปด้วยดี จากการร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย และภาคเอกชน สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวให้กับเกษตรกรได้ จาก 300 กิโลกรัม ต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 409 กิโลกรัม ต่อไร่ จากจุดเริ่มต้นของโครงการเกิดขึ้นในปี 2020 เริ่มทำ 8 แปลง จนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ทำแปลงทดลองเพิ่มข้าวทั้งหมด 35 แปลงทั่วประเทศ และได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างดี ในเบื้องต้นให้ความสนใจเข้ามาชมแปลงสาธิต และให้ความเห็นถึงความแตกต่างระหว่างแปลงข้าวของเกษตรกรเองกับในแปลงสาธิตที่มีการแตกกอได้ดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่บริเวณใกล้เคียง มีการเจริญเติบโตและการติดรวงมากขึ้น เมล็ดของข้าวแกร่งขึ้น และมีความยาวของเมล็ดที่มากขึ้น ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เริ่มสนใจติดตามผลลัพธ์ นำไปสู่การสร้างเกษตรกรต้นแบบ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกข้าวแบบฉบับโครงการเพิ่มข้าวให้กับคนในท้องถิ่นต่อไป