วช. หนุน จุฬาฯ พัฒนาเท้าเทียมไดนามิกส์ ทางเลือกใหม่ผู้พิการขาขาด ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนผลงาน “เท้าเทียมไดนามิกส์สำหรับผู้พิการขาขาดที่แข็งแรง” แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ และคณะ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ “ก้าวใหม่ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อส่งเสริมให้จำนวนผู้พิการที่ด้อยโอกาสได้ใช้เท้าเทียมที่มีคุณภาพดี ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้พิการขาขาดให้ดีขึ้น

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นองค์ความรู้ที่เสริมศักยภาพในด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม สนับสนุนในภาคการผลิตต่างๆ สามารถขยายผลต่อยอดในเชิงพาณิชย์

โดย วช. ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ และคณะ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลในการดำเนินงานโครงการ “ก้าวใหม่ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยได้มีการนำเท้าเทียมไดนามิกส์ ไปมอบให้กับผู้พิการขาขาดตามโรงพยาบาลกว่า 13 แห่ง จำนวน 67 ขา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการขาขาดให้ดีขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าเท้าเทียมจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงได้อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการขาขาด 39,647 คน กว่า 95 % ของผู้พิการขาขาดใช้เท้าเทียมด้อยคุณภาพ Sach Foot น้ำหนักมากและไม่มีข้อเท้าทำให้เดินไม่ดี ดังนั้น ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาเท้าเทียมไดนามิกส์ (Dynamic Foot) คุณภาพสูงขึ้นซึ่งมีความยืดหยุ่นสามารถงอเท้าและเก็บพลังงานในเท้าเทียมได้ทำให้มีแรงส่งขณะเดิน

ตัวเท้าทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์มีน้ำหนักเบาแข็งแรง ผู้พิการสวมใส่แล้วจะเดินในพื้นที่ขรุขระ ออกกำลังกาย และวิ่งเหยาะๆ ได้เหมือนคนปกติ เท้าเทียมที่พัฒนาขึ้นนี้ได้ทดสอบความแข็งแรงตามมาตรฐานสากล ISO 10328 จากประเทศเยอรมนีและได้การรับรองระบบบริหารคุณภาพ ISO 13485 ซึ่งผลงานเท้าเทียมไดนามิกส์นี้ได้ขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์แบบจดแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงการจดอนุสิทธิบัตร และขึ้นทะเบียน THAI SME-GP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย การขอใบรับรอง MIT (Made in Thailand) และการรับรองมาตรฐานสากล CE Mark อีกด้วย

“การดำเนินการทดสอบด้านคลินิกพร้อมประเมินผลด้านคลินิกกับผู้ป่วย ซึ่งได้ทำการทดสอบกับผู้พิการจำนวน 20 ราย โดยผลการทดสอบเบื้องต้นเป็นที่พึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างในระดับดีมาก และผู้พิการใช้ระยะเวลาในการปรับตัวให้คุ้นชินประมาณ 2 สัปดาห์ โดยเท้าเทียมไดนามิกส์ที่พัฒนาขึ้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสมรรถนะของเท้าเทียมไดนามิกส์นำเข้าที่มีขายในท้องตลาด พบว่าเท้าเทียมที่ผลิตและพัฒนาขึ้นมีสมรรถนะมีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ แต่สามารถทำต้นทุนการผลิตได้ถูกกว่าการนำเข้าถึง 5 เท่า ทำให้สามารถลดการนำเข้าสินค้าอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ทางด้านกายอุปกรณ์ซึ่งมีราคาสูงมากได้ นอกจากนี้ การนำมาซึ่งการผลิตในเชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ยังสามารถขยายการผลิตเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ผ่านบริษัท มุทา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท Spin-off จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นโดยทีมนักวิจัยจากศูนย์เชี่ยวชาญด้านกายอุปกรณ์และสิ่งปลูกฝังทางด้านออร์โธปิดิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นการเพิ่มรายได้และโอกาสการส่งออกและสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับเท้าเทียมไดนามิกส์ ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. เพื่อจัดทำโครงการกายอุปกรณ์สำหรับผู้พิการ ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ “ก้าวใหม่ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยได้มีการนำเท้าเทียมไดนามิกส์ จำนวน 67 ขา ไปให้กับผู้พิการขาขาดตามโรงพยาบาลกว่า 13 แห่ง และมีผู้พิการขาขาดที่นำผลงานนี้ไปใช้ประโยชน์ผ่านโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งสิ้น    78 คน ซึ่งขณะนี้ผลงานดังกล่าวอยู่ระหว่างการเสนอเข้าอยู่ภายใต้สิทธิการรักษาของรัฐบาล อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงเท้าเทียมไดนามิกส์คุณภาพสูงได้ ถือเป็นการช่วยผู้พิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ผลงาน “เท้าเทียมไดนามิกส์สำหรับผู้พิการขาขาดที่แข็งแรง” ได้เข้าร่วมการจัดนิทรรศการ “งานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น” ประจำปีงบประมาณ 2566 ที่ วช. จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 -20 กันยายน 2565 ที่ผ่านมาอีกด้วย


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354