สภาเอสเอ็มอีไทยเผยผลสำเร็จงาน “สุรินทร์โมเดล 2” ผู้ประกอบการไทยผนึกกัมพูชาทำตลาดสินค้าร่วมกัน

ประธานสภาเอสเอ็มอีไทยเผยผลสำเร็จจับคู่ธุรกิจงาน“สุรินทร์โมเดล 2”หลังหลายรายเตรียมนำสินค้าบุกตลาดกัมพูชา ขณะผู้ประกอบการไทยและกัมพูชาสุดปลื้มจับมือทำตลาดสินค้าร่วมกัน คาดครั้งต่อไปเตรียมยกคาราวานผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจัดที่ด่านถาวรช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษปลายปีนี้

ดร. ศุภชัย แก้วศิริ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยหรือสภาเอสเอ็มอีไทยกล่าวถึงผลสำเร็จในการจะจัดงานการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา หรือสุรินทร์โมเดล 2 จัดโดยคณะกรรมาธิการการเงินการคลังฯ สภาผู้แทนราษฎรร่วมกับสภาเอาเอ็มอีไทย จังหวัดสุรินทร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐและเอกชน ระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ณ ตลาดอาเซียน ด่านช่องจอม ตำบลด่าน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ โดยระบุว่าประสบผลสำเร็จตามเป้าที่วางไว้ แม้ว่าจะมีปัญหาอุปสรรคในด้านสภาพภูมิอากาศมีฝนตกลงมาต่อเนื่องตลอดทั้ง 3 วันของการจัดงานก็ตาม ทำให้ประชาชนมาร่วมงานค่อนข้างบางตา ในขณะที่การจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับกัมพูชาหรือบีทูบี ซึ่งเป้าหมายหลักของสภาเอสเอ็มอีนั้นถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างมาก มีการเจรจาในหลายคู่ธุรกิจ มีทั้งการลงนามเอ็มโอยู(MOU)ในวันงานและการจับคู่เจรจาจนได้ข้อสรุปเพื่อลงนาม (MOU) ในโอกาสต่อไป

สำหรับในส่วนผู้ประกอบการที่นำสินค้ามาจำหน่ายหรือบีทูซีนั้น อาจจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย ขณะเดียวกันก็ตรงกับเทศกาลไหว้บรรพบุรุษหรือแซร์บุญตาของทางฝั่งกัมพูชา ทำให้ประชาชนมาร่วมงานค่อนข้างน้อย ส่งผลให้การซื้อขายสินค้าที่ผู้ประกอบการ จำนวน 84 รายที่นำมาจัดแสดงและจำหน่ายน้อยตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็เข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่อาจควบคุมได้

“เป้าหมายของเราคือการจับคู่ทางธุรกิจหรือการแมชชิ่ง ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก มีการลงนามเอ็มโอยู (MOU) ไปหลายคู่ บางรายก็มีการลงนามเอ็มโอยูกันภายในงาน บางคู่ก็เจรจาบรรลุผล พร้อมที่จะลงนามเอ็มโอยูในโอกาสต่อไป”ประธานสภาเอมเอ็มอีไทยกล่าว

นายกิตติ แสงดี ผู้ประกอบการเจ้าของผลิตภัณฑ์กรดยางพาราตรา “แข็งทันใจ”กล่าวรู้สึกดีใจที่สามารถเจรจาจับคู่ทางธุรกิจกับผู้ประกอบการทางฝั่งกัมพูชาจนประสบผลสำเร็จในการเป็นตัวแทนจำหน่ายกรดยางพารา เนื่องจากตนเองมีความตั้งใจที่จะขยายตลาดสินค้ากรดยางพาราไปยังประเทศกัมพูชาอยู่แล้ว เพราะเหตุว่าขณะที่พื้นที่ของกัมพูชามีการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มอย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีโอกาสหรือมีช่องทางเข้าไปทำตลาดได้

“ต้องขอบคุณทางสภาเอสเอ็มอีที่จัดงานนี้ขึ้นมาทำให้เรามีวันนี้ ปกติสินค้าของเราก็ทำตลาดในประเทศอยู่แล้ว ซึ่งลูกค้าเกษตรกรเจ้าของสวนยางพาราก็ให้การตอบรับดีมาก จึงสนใจอยากไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาดูบ้าง ที่ผ่านมาก็มีลูกค้าทางฝั่งกัมพูชาข้ามฝั่งเข้ามาซื้อสินค้าจากเราไปทดลองใช้ เขาก็บอกว่าใช้ดีมาก เขายอมรับในผลิตภัณฑ์ของเรา จึงอยากมีตัวแทนจำหน่ายทางฝั่งกัมพูชาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ากัมพูชาไม่ต้องข้ามฝั่งมาซื้อทางฝั่งไทย” เจ้าของผลิตภัณฑ์กรดยางพารา “แข็งทันใจ” เผย

นายสะรื่น และ นางแพน มารีน สองสามีภรรยาชาวกัมพูชา เจ้าของร้านจำหน่ายเครื่องสำอางค์ในจังหวัดอุดร มีชัย ประเทศกัมพูชา หลังการลงนามเอ็มโอยูร่วมกัน ในฐานะตัวแทนจำหน่ายกรดยางพาราแต่เพียงผู้เดียวในกัมพูชา เผยว่ารู้สึกยินดีที่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายกรดยางพาราตรา”แข็งทันใจ” หลังนำมาทดลองใช้ระยะหนึ่ง ปรากฏว่าได้ผลดีมากและคุณภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับกรดยางพารานำเข้าจากเวียดนาม จากนี้ไปเร่งทำการตลาดกรดยางพาราตรา”แข็งทันใจ” ด้วยการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 8 จังหวัดของประเทศกัมพูชา

“ตอนนี้กัมพูชาเริ่มปลูกยางพารามากขึ้น ทดลองนำน้ำกรดยางพาราตราแข็งทันใจมาใช้ประมาณ 1 เดือนแล้ว ปรากฏว่าใช้ได้ดี ไม่มีผลเสียและผลตอบรับจากชาวสวนยางดีมาก เมื่อเทียบกับของเวียดนามที่สั่งมาทำตลาดเช่นกัน ช่วงแรกๆ ดี มาระยะหลังคุณภาพด้อยลงไม่ผ่าน แต่ของไทยคุณภาพเสมอต้นเสมอปลาย ที่สำคัญชาวสวนยางกัมพูชาก็ชอบสินค้าไทยมากกว่า ถึงแม้ราคาจะแพงกว่าก็ตาม” นางแพน มารีนกล่าว

นางสิรินพร หงส์ชัย เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อไกรทอง อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ หนึ่งในผู้ประกอบการที่มีโอกาสเจรจาทางธุรกิจเพื่อขยายตลาดน้ำจิ้มสุกี้ไปยังประเทศกัมพูชากล่าวว่ารู้สึกดีใจที่เจ้าของห้างโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ในกรุงพนมเปญ สนใจ นำน้ำจิ้มสุกี้ไกรทองไปจำหน่ายที่ประเทศกัมพูชา ถือเป็นขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศเป็นครั้งแรก หลังทำตลาดไทยมานาน โดยสินค้าของเรามีมากกว่า 10 ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายอยู่ในประเทศ อาทิ น้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มไก่ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพริก โดยเฉพาะในจังหวัดทางภาคเหนือจะรู้จักสินค้าของเราเป็นอย่างดี

“จุดเด่นของเราอยู่ที่วัตถุดิบการในผลิตคือพริก เป็นพริกอินทรีย์ที่เราปลูกเอง อยู่ที่อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ส่วนยี่ห้อไกรทองมาจากชื่อร้าน นอกจากปลูกเองแปรรูปเองแล้วยังรับซื้อพริกจากเกษตรกรเพื่อจำหน่ายให้กับพ่อค้าในนามของร้านไกรทองการเกษตร ซึ่งเราทำมานานกว่า 20 ปีแล้ว นี่คือที่มาของน้ำจิ้มสุกี้ตรา “ไกรทอง” นางสิรินพร เผยที่มาและย้ำว่าราวกลางเดือนพฤศจิกายน 2565 ตนจะเดินทางไปยังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาเพื่อเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าและลงนามเอ็มโอยู (MOU) อย่างเป็นทางการเพื่อนำผลิตภัณฑ์น้ำจิ้มสุกี้ไกรทองไปวางจำหน่ายในห้างโมเดิิร์นเทรด ของกัมพูชาต่อไป

นายยุทธนา จุลพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์รองเท้าแตะยี่ห้อ คอมโบลกล่าวว่าการมาออกบูธครั้งนี้นอกจากนำสินค้ามาจำหน่ายในงานแล้วยังสนใจทำตลาดในพื้นที่ชายแดนทั้งฝั่งไทยและกัมพูชาด้วย เนื่องจากสินค้าของบริษัทเป็นรองเท้าแตะ ราคาไม่แพงมาก เหมาะสำหรับชาวบ้านในใช้สอย แต่บังเอิญว่าโชคไม่ดีสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย ฝนตกตลอดทั้ง 3 วัน ทำให้ประชาชนมาเที่ยวงานน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ สินค้าที่นำมาจำหน่ายไม่เป็นไปตามเป้า ส่วนตลาดกัมพูชานั้น เป็นอีกประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ได้ทำตลาดอยู่แล้ว

“ปกติสินค้าของเราก็มีจำหน่ายอยู่ในกัมพูชาอยู่แล้ว ขายดีมากด้วย คนกัมพูชารู้จักรองเท้าคอมโบลเป็นอย่างดี แต่งานนี้เราต้องการบีทูซีมากกว่า อยากมาศึกษาตลาดชายแดน และอยากเจอผู้ประกอบรายใหม่นอกเหนือที่ทำตลาดอยู่แล้วด้วย ยอมรับว่าเพิ่งมาออกงานที่นี่เป็นครั้งแรก ผลตอบรับอาจไม่เป็นไปตามเป้ามากนัก แต่ก็ดีใจที่ได้มาออกงานร่วมกับทางสภาเอสเอ็มอี” นายยุทธนา จุลพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัดกล่าว

สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่และสถาบันการศึกษาที่ให้การสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้จำนวน 10 ราย ประกอบด้วย 1. บจก.ไปรษณีย์ไทย จก. 2. บจก.บิ๊กสตาร์ 3. บจก.รอยัล เดีย เคคราวน์ 4. บจก.หลงไทย อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป 5. บจก.ไทวัสดุ 6. บมจ.บางจาก คอร์เปอเรชั่น 7. บจก.จอมคชา 8. สมาคมการค้าอาเซียน 9. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต และ 10. กลุ่มเอิร์ธเซฟ (Earthsafe) เกษตรอินทรีย์วิถีไทย

อย่างไรก็ตาม การกำหนดจัดงานพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนของสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยหรือสภาเอสเอ็มอีไทยครั้งต่อไปคาดว่าจะมีขึ้น ณ ด่านถาวรช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า หลังคณะทำงานสภาเอสเอ็มอีไทยได้หารือเบื้องต้นกับพระครูโกศลสิกขกิจ (หลวงพ่อพุฒ วายาโม) เจ้าคณะอำเภอภูสิงห์ (ธ) เจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา ประธานมูลนิธิหลวงปู่สรวงในการร่วมกันจัดงานครั้งนี้


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354