เกษตรกร ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ประสบความสำเร็จทำเกษตรผสมผสาน

นายอุดร หมันมณี  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8  ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี  เกษตรกรตัวอย่างด้านเกษตรผสมผสานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ปลูกสับปะรดเป็นพืชเชิงเดี่ยว ต้องใส่ปุ๋ยเคมีบำรุงและใช้ยาฉีดฆ่าหญ้า ไม่นานดินเสื่อมโทรมเป็นกรดเป็นด่าง ร่างกายก็เริ่มเจ็บป่วย

“พอได้เข้าร่วมเป็นเกษตรกรทำเกษตรแบบผสมผสานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี ซึ่งศูนย์ฯ ได้ให้ความรู้พร้อมแนะนำให้ปลูกพืชล้มลุกที่เหมาะสมกับพื้นที่ เป็นแคนตาลูป แตงโม เป็นการเริ่มจากที่พืชปลูกง่าย ๆ  ขายได้ไว ๆ  และเป็นพืชที่ช่วยปรับปรุงบำรุงดิน เมื่อดินฟื้นตัวจึงเอาพันธุ์ไม้อื่น ๆ มาปลูกเพิ่มเติม  เช่น  กล้วยน้ำว้า พันธุ์มะลิอ่อง ฝรั่งไส้แดง อ้อยคั้นน้ำ ขุดสระเก็บน้ำในพื้นที่ ในสระปล่อยปลา ริมสระน้ำปลูกผัก ทำให้มีกินมีขายตลอดทั้งปี และดินก็สมบูรณ์ไม่ต้องใส่ปุ๋ย” นายอุดร หมันมณี  กล่าว ในระหว่างรอต้อนรับนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วย นายปวัตร์ นวะมะรัตน รองเลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมความสำเร็จในการน้อมนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติใช้ในการดำรงชีพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาการนี้องคมนตรีและคณะฯ ได้เยี่ยมชมแปลงเกษตรของนายอุดร หมันมณี  พร้อมรับฟังแนวทางในการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นเกษตรกรตัวอย่างด้านเกษตรผสมผสานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ที่ย้ายถิ่นฐานจากจังหวัดสมุทรสงครามมาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี และในปี 2526 เข้าร่วมเป็นเกษตรกรขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี

ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการก่อตั้งศูนย์ ได้รับจัดสรรที่ดินทํากินจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จํานวน 11 ไร่ เป็นพื้นที่ใกล้น้ำ 5 ไร่ พื้นที่ไกลน้ำ 5 ไร่ ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ เริ่มแรกทําไร่สับปะรดเพียงอย่างเดียว ได้รายได้น้อยและไม่ประสบผลสําเร็จ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จึงเข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมให้ทําการเกษตรแบบผสมผสานควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์ มีรายได้ประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน  ผลผลิตส่งขายที่อาคารจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ  อีกทั้งยังนำปลานิลที่เลี้ยงในสระน้ำมาแปรรูปเป็นปลานิลแดดเดียว ให้แม่บ้านรวมกลุ่มเป็นกลุ่มแม่บ้านทําเค้กกล้วยหอม  เพาะชำไม้ดอกไม้ประดับโดยได้นําความรู้ที่ได้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ มาดำเนินการ และถ่ายทอดให้ลูกบ้านได้นําไปปฏิบัติใช้ เช่น การบริหารจัดการการผลิตสินค้าทางการเกษตรตามฤดูกาล การวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับการตลาด ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและเป็นการลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

“ผมเป็นผู้ใหญ่บ้านมีเงินเดือน 9,000 บาทต่อเดือน  มาบวกกับขายกล้วยน้ำว้า ขายหน่อกล้วย ขายหัวปลี ขายใบตอง ปลาในท้องร่องจับขึ้นมากิน เหลือกินแปรรูปเป็นปลาแดดเดียว ส่วนหนึ่งนำมาทอดขาย  และเลี้ยงแพะเมื่อโตเต็มที่นำมาแปรรูปทำข้าวหมกเนื้อแพะ แกงแพะ แพะย่างสมุนไพร ซึ่งมีคนมารับซื้อถึงที่  นอกจากนี้ยังมีการผลิตแชมพูประคำดีควาย   เซรั่มเห็ดเยื่อไผ่ สบู่นมแพะ  ครีมทาผิวบำรุงผิวนมแพะ และนมแพะพาสเจอร์ไรส์  ที่ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ  ได้อบรมความรู้ให้แล้วมารวมตัวกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน นำผลผลิตไปจำหน่ายที่ร้านของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ  ขายดีมาก ทุกคนในกลุ่มฯ จะได้รับเงินปันผลจากทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ มาโดยตลอด เป็นรายได้ที่ดีและได้รับกันอย่างทั่วถึง”  นายอุดร หมันมณี  กล่าว

เกษตรกรตัวอย่างด้านเกษตรผสมผสาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ  เผยเพิ่มเติมด้วยว่าเพื่อเป็นการขยายผลในการทำเกษตรผสมผสานในพื้นที่ ต่อจากนี้จะรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ให้มากขึ้น พร้อมขยายพื้นที่ปลูกพืชประเภทผักปลอดสารพิษ ควบคู่กับการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้บำรุงดิน สู่เกษตรกรรายอื่น ๆ  โดยจะดำเนินการครั้งละ 10 ราย จนทั่วทั้งหมู่บ้านต่อไป