สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ แหล่งเรียนรู้ สร้างสมดุล

ผลสำเร็จที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ที่ทรงนำความเจริญไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของปวงพสกนิกรให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีความสุขอย่างยั่งยืนบนวิถีแห่งความพออยู่พอกิน เช่น ราษฎรที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ห้วยแม่เกี๋ยง ตำบลเมืองนะ  อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นอีกหนึ่งแหล่งความรู้และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ราษฎรชาวไทยภูเขา อันก่อเกิดจากน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงห่วงใยความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎรที่มีฐานะยากจน ตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างได้เข้มแข็ง โดยไม่ไปบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย และเพื่ออนุรักษ์ผืนป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำให้คงความอุดมสมบูรณ์ไว้ ทรงตระหนักว่าหากไม่จัดระเบียบชุมชนให้มีที่ทำกินเป็นหลักแหล่งแล้ว ราษฎรก็จะแผ้วถางป่า ซึ่งจะส่งผลให้สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์จะต้องถูกทําลายลงอีกเป็นจํานวนมาก รวมถึงยังส่งผลเสียในด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนของประเทศอีกด้วย

สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ห้วยแม่เกี๋ยง เป็นทั้งสถานที่แห่งการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมอย่างครบวงจร ซึ่งจากการดำเนินงานที่มีหลายหน่วยงานร่วมกันพัฒนาตามแนวพระราชดำริ มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2546 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประสานงาน พิจารณาสนับสนุนงบประมาณ และติดตามประเมินผลการดำเนินงาน โดยมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้ราษฎรได้เรียนรู้การทำเกษตรกรรมอย่างถูกวิธีเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมถึงการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนการดำเนินการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อาทิ  เส้นทางคมนาคม ระบบน้ำประปาภูเขา และสาธารณสุข ส่งผลให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรที่ดีขึ้นตามลำดับ

ซึ่งจากการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีคณะกรรมการในการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมกับเชิญถุงพระราชทาน ไปมอบให้แก่ราษฎร เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และเสื้อกันหนาวให้แก่เด็กในพื้นที่ พบว่าการดำเนินงานของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ห้วยแม่เกี๋ยง มีความก้าวหน้าเป็นลำดับ ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพเกษตรได้อย่างหลากหลาย เพราะมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ทำให้มีรายได้ที่มั่นคงขึ้น ดังเช่น

นายจะพะ จะฟะ ราษฎรชาวไทยภูเขา เป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านห้วยแม่เกี๋ยง กล่าวว่า จากเดิมที่เคยปลูกข้าวโพดเป็นหลัก เมื่อได้เรียนรู้การทำเกษตรแบบผสมผสานจากสถานี จึงนำมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ด้วยการปลูกไม้ผล เช่น อะโวคาโด มะม่วง กล้วย ใช้พื้นที่ระหว่างต้นไม้ ปลูกข้าวไร่ ถั่วลิสง ข้าวโพด ลดการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทน

ปัจจุบัน นายจะพะ มีรายได้ 176,000 บาท โดยมาจากการปลูกข้าวโพด 70,000 บาท อะโวคาโด 40,000 บาท ผลผลิตอื่น ๆ 2,000 บาท และรับจ้าง 64,000 บาท สามารถส่งเสียให้ลูกได้เรียนหนังสือจนจบ และเข้ารับราชการทหาร แล้ว 1 คน กำลังศึกษาอีก 1 คน นายจะพะ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า จะมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ของตนโดยไม่คิดทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอยอีก

นอกจากนี้สถานีฯ ยังได้พัฒนาอาชีพภาคการเกษตรจากการปลูกพืชผักไม้ผลเมืองหนาวแล้ว ยังมีการทดลองปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่เหมาะสมกับสภาพอากาศจนประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งในอนาคตจะนำไปขยายผลให้ราษฎรที่สนใจเพาะปลูกต่อไป

ในส่วนของการติดตามประเมินผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของสำนักงาน กปร. ที่ได้มีการติดตามประเมินผลของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดําริ ทั้ง 18 สถานี ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบดําเนินการรวม 380,583 ไร่ หมู่บ้านเป้าหมาย 60 หมู่บ้าน จํานวนครัวเรือนรวม 6,405 ครัวเรือน ประชากรรวม 33,228 คน

Advertisement

จากผลการสำรวจความคิดเห็นของราษฎรในพื้นที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ จำนวน 353 ตัวอย่าง พบว่าประโยชน์ที่เกิดจากการมีโครงการฯ มากที่สุด คือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพราะป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น

โดยมีกิจกรรมในการอนุรักษ์ป่า เช่น กิจกรรมปลูกป่า ดับไฟป่า การทําแนวกันไฟ รองลงมาคือเรื่องคุณภาพชีวิต เนื่องจากมีสถานศึกษาภายในหมู่บ้านหรือบริเวณใกล้เคียงเด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น น้ำ ไฟฟ้า การคมนาคมที่สะดวกขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับการบริการสาธารณสุขที่ดีและสะดวกสามารถเข้าถึงการบริการได้ทันท่วงที มีน้ำสะอาดสําหรับอุปโภคบริโภคตลอดปี ด้านความมั่นคงในการประกอบอาชีพ พบว่าหนี้สินของครอบครัวลดลง มีรายได้เพียงพอในการเลี้ยงดูครอบครัว

Advertisement

และนี่คือผลสำเร็จของการพัฒนาตามพระราชดำริที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดําริ ได้นำมาปฏิบัติจนประสบผลสำเร็จโดยเฉพาะการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ที่กลับคืนความอุดมสมบูรณ์อีกครั้งและเป็นแหล่งต้นน้ำลําธารหล่อเลี้ยง อํานวยประโยชน์ให้แก่ราษฎรบนพื้นที่สูงและที่ราบลุ่มในเมืองใหญ่ รวมถึงเป็นแหล่งความรู้ แหล่งผลิตพืชเมืองหนาวที่มีคุณภาพ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศนำรายได้สู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง