เผยแพร่ |
---|
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ซึ่งจะมีฝนตกต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแนะนำให้เกษตรกรวางแผนการปลูกและรักษาพืชผัก เนื่องจากในช่วงฤดูฝนมีปริมาณน้ำมากและความชื้นในอากาศสูง อาจทำให้ผลผลิตเสียหายได้ หากเกษตรกรวางแผนการผลิตและดูแลรักษาไม่ดี ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแนะนำ 7 เทคนิคการปลูกพืชผักให้เหมาะกับช่วงฤดูฝน ดังนี้
1.การเลือกชนิดพืชผักที่เหมาะสม เป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ พืชผักที่เหมาะสมสำหรับปลูกในฤดูฝน ได้แก่ ผักที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นจำพวกผักใบ เช่น กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน ผักกาดหอม ผักตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี คะน้า ผักเถาเลื้อย เช่น ตำลึง ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาวแตงร้าน ฟักทอง ฟัก แฟง มะระ ผักยืนต้น เช่น ชะอม พริก มะเขือ เป็นต้น
- การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ควรใช้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ และเพื่อเป็นการป้องกันเชื้อราที่ติดมากับเมล็ด ควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น ประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมากับเมล็ดผัก
- การเตรียมดิน ในฤดูฝนดินมีการอุ้มน้ำมาก หากรากพืชแช่อยู่ในน้ำนาน จะทำให้ขาดอากาศและตายในที่สุด ดังนั้น พืชผักที่มีรากไม่ลึกมาก ควรยกแปลงให้สูงไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร พร้อมทั้งเพิ่มปริมาณปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักมากกว่าเดิม เพื่อเพิ่มช่องว่างในดิน และใส่ปูนขาว อัตรา 100 – 200 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อลดความเป็นกรดของดิน
- การจัดการแปลงปลูก ควรหาวัสดุคลุมแปลงเพื่อป้องกันเม็ดฝนที่สร้างความเสียหายแก่ผิวหน้าดินและระบบรากพืช โดยเฉพาะพืชที่มีระบบรากตื้น การคลุมแปลงโดยใช้วัสดุที่หาได้ง่าย เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้งหรือใบไม้แห้ง นอกจากจะช่วยลดแรงกระแทกของเม็ดฝนแล้ว ยังเป็นการควบคุมวัชพืชได้อีกทางหนึ่ง
- การกำจัดวัชพืช ในฤดูฝนวัชพืชจะเจริญเติบโตได้ดีและเป็นที่อาศัยของโรคแมลงศัตรูพืช การหมั่นกำจัดวัชพืชนอกจากจะทำให้พืชเจริญเติบโตดีแล้ว ยังเป็นการลดแหล่งอาศัยของศัตรูพืช และทำให้แสงแดดส่องถึงพื้นดิน ช่วยลดความชื้นและทำให้การระบายอากาศในแปลงผักดี
- การรดแปลงผักด้วยน้ำปูนใสช่วยให้กล้าผักมีความแข็งแรง และเพิ่มอัตรารอดตายจากโรคพืชที่เข้าทำลายได้ การเตรียมน้ำปูนใส ทำได้โดยผสมปูนขาว 5 กิโลกรัมในน้ำ 20 ลิตร กวนให้เข้ากัน ทิ้งไว้ 1 คืนให้ตกตะกอน หลังจากนั้นนำน้ำปูนใส ที่ตกตะกอนแล้วผสมน้ำอัตรา 1 ต่อ 5 รดแปลงผักสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง
- การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ป้องกันกำจัดเชื้อราอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย มีวิธีการ ดังนี้
– คลุกเมล็ดพันธุ์ ควรใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่าชนิดผง ในอัตรา 10 – 20 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม เติมน้ำลงไปเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ผลเพื่อจับติดเมล็ดได้ดีขึ้น และนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกทันที
– ผสมกับดินปลูก ใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่าในรูปเชื้อสด 1 ส่วน ผสมกับรำข้าว 10 ส่วน และปุ๋ยหมักหรือ ปุ๋ยคอก 40 ส่วน (โดยน้ำหนัก) ผสมให้เข้ากัน พรมน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ในที่ร่ม 1 – 3 คืน เพื่อให้เชื้อราเจริญเติบโต จากนั้นนำไปคลุกเคล้ากับดินปลูกหรือรองก้นหลุมประมาณ 1 กำมือต่อต้น หรือใช้โรยบริเวณโคนต้น หรือหว่านในแปลงที่ปลูกพืชแล้ว อัตรา 50 – 100 กรัมต่อตารางเมตร
– รองก้นหลุมและหว่านลงแปลง ใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่า 1 กิโลกรัม ผสมกับรำละเอียด 5 กิโลกรัม และปุ๋ยหมัก 40 กิโลกรัม รองก้นหลุมปลูกผัก 15 -20 กรัมต่อต้น หรือหว่านในแปลงปลูก 50 – 100 กรัมต่อตารางเมตร
– ฉีดพ่นบริเวณโคน หรือใบต้นผัก โดยใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่าในรูปเชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร จากนั้นกรองเอาเฉพาะน้ำสปอร์เทลงถังฉีดพ่นและเติมน้ำจนได้ 100 ลิตร ใช้ฉีดพ่นแปลงต้นกล้าบริเวณโคนต้นผัก หรือฉีดพ่นทางใบ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ควรระมัดระวัง หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง เกษตรกรจำเป็นต้องให้น้ำแก่พืชอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ หากพืชขาดน้ำในช่วงนี้ เมื่อฝนตกลงมาอีกครั้งจะทำให้ผลผลิตเสียหาย โดยเฉพาะพืชผักรับประทานผลจะทำให้ผลแตก เกษตรกรสามารถติดต่อสอบถามและขอคำแนะนำได้จากสำนักเกษตรใกล้บ้านท่าน